Abstract:
วัตถุประสงค์ของงานวิจัยนี้คือต้องการเปรียบเทียบการรั่วซึมระดับจุลภาคที่ผนังด้านเหงือกและผนังด้านบดเคี้ยวของโพรงฟันชนิดคลาสไฟว์ ระหว่างกลุ่มที่มีการปนเปื้อนสารห้ามเลือด 2 วิธี กับกลุ่มควบคุมที่ไม่มีการปนเปื้อนสารห้ามเลือดในการบูรณะฟันด้วยสารยึดติดระบบเซลฟ์เอทช์ 2 ชนิด โดยทำการกรอแต่งฟันกรามน้อยบนเป็นโพรงฟันคลาสไฟว์ บูรณะฟันด้วยสารยึดติดระบบเซลฟ์เอทช์ 2 ชนิดคือ เคลียร์ฟิลเอสอีบอนด์ และเคลียร์ฟิลไตรเอสบอนด์ ซึ่งมีการเตรียมผิวฟันเป็น 3 กลุ่มย่อยคือกลุ่มควบคุม กลุ่มปนเปื้อนสารห้ามเลือดโดยไม่ทำการล้างน้ำ และกลุ่มปนเปื้อนสารห้ามเลือดโดยทำการล้างน้ำ จากนั้นนำไปทดสอบการรั่วซึมระดับจุลภาคด้วยสารเคมีซิลเวอร์ไนเตรต และอ่านผลการรั่วซึมเป็นคะแนนทั้งผนังด้านบดเคี้ยวและผนังด้านเหงือก เปรียบเทียบระหว่างกลุ่มด้วยสถิตินอนพาราเมตริกครัสคาล-วัลลิส การเปรียบเทียบพหุคูณ และสถิติของแมนวิทนีย์ ศึกษาที่ระดับความเชื่อมั่น 95% ผลการศึกษาพบว่าการรั่วซึมระดับจุลภาคของกลุ่มเคลียร์ฟิลเอสอีบอนด์ที่ผนังด้านบดเคี้ยวพบการปนเปื้อนสารห้ามเลือด 2 วิธีไม่มีความแตกต่างกันเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม (p=0.5555) ที่ผนังด้านเหงือกการปนเปื้อนสารห้ามเลือดโดยไม่ผ่านการล้างน้ำมีการรั่วซึมที่มากกว่าเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.0001) กลุ่มเคลียร์ฟิลไตรเอสบอนด์ทั้งผนังด้านบดเคี้ยวและผนังด้านเหงือกพบการปนเปื้อนสารห้ามเลือดโดยไม่ผ่านการล้างน้ำมีการรั่วซึมที่มากกว่าเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p=0.0006 และ p<0.0001 ตามลำดับ) สรุปว่ากลุ่มสารยึดติดเคลียร์ฟิลเอสอีบอนด์ และกลุ่มเคลียร์ฟิลไตรเอสบอนด์เมื่อมีการปนเปื้อนสารห้ามเลือดโดยไม่ทำการล้างน้ำจะให้ค่าการรั่วซึมมากกว่ากลุ่มควบคุมและกลุ่มปนเปื้อนสารห้ามเลือดโดยทำการล้างน้ำ