Abstract:
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษากระบวนการเกิดขึ้นของตลาดแบกะดิน ความสัมพันธ์ของคนในตลาด แบกะดินทั้งผู้ผลิต ผู้ขาย และผู้บริโภค และความสัมพันธ์ของคนกับสินค้า รวมทั้งอธิบายหาความหมายของตลาดแบกะดินและสินค้าต่างๆตามความเข้าใจของคนในตลาดในแง่ของพื้นที่ทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม โดยเน้นการลงภาคสนาม ศึกษาปฏิสัมพันธ์ของคนในตลาดและอธิบายตามแนวทางมานุษยวิทยาเศรษฐกิจ การเข้าถึงความสัมพันธ์และความคิดของคนต้องอาศัยวิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ การฝังตัวในพื้นที่ การเข้าใจชุมชนและคนในชุมชนในแบบที่เขาเป็น ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการเป็นนักมานุษยวิทยา วิธีการศึกษาคือ สำรวจพื้นที่ สังเกตความเป็นไปของตลาด พัฒนาการ ความเปลี่ยนแปลง และจดบันทึกเพื่อประกอบการวิเคราะห์ร่วมกับใช้การสัมภาษณ์แบบเจาะลึกและสนทนากลุ่ม ผลจากการศึกษาพบว่า ตลาดแบกะดิน บริเวณย่านอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิเป็นศูนย์กลางการเดินทางภายในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งมีคนสัญจรผ่านไปมาจำนวนมาก ทั้งคนทำงานและคนย้ายถิ่นเข้ามาในพื้นที่ได้ง่าย เพราะมีบริการรถโดยสารและสถานีรถไฟฟ้า BTS ซึ่งมีผู้ใช้บริการจำนวนมาก เหล่านี้เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดพฤติกรรมทางเศรษฐกิจ การรวมกลุ่ม และพัฒนาจนกลายเป็นตลาด ดังนั้น ตลาดแบกะดินอาศัยปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายแบบใกล้ชิด ตลาดจะคงอยู่ได้ก็ต่อเมื่อมีการรวมกลุ่มกัน เพื่อสร้างความมั่นคงของตลาดขึ้นเอง อีกทั้งผู้ขายส่วนใหญ่ในตลาดแบกะดินแห่งนี้มีความสัมพันธ์กับสินค้าที่ตนขาย เช่น ของทำมือ ของสะสม และของมือสองที่ ต้องการนำมาขายและแลกเปลี่ยนกับผู้ที่มีความสนใจเดียวกัน ซึ่งผู้บริโภคเองก็พึงพอใจกับการเกิดขึ้นของตลาดในช่วงเวลาที่เหมาะสม คือเวลาประมาณ 22.00-01.00น. ซึ่งเป็นช่วงเวลาแห่งการพักผ่อนของคนทำงาน ตลาดสร้างสีสันในยามค่ำคืนไม่ให้เงียบเหงา อีกทั้งได้พบสินค้าที่แปลกตาหาซื้อยากและไม่เหมือนใคร