Abstract:
การฟอกเงินถือเป็นปัญหาสำคัญของนานาประเทศ รวมถึงประเทศไทยด้วย เพราะกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจและสังคมเป็นอย่างมาก ดังนั้น ประเทศไทยจึงได้จัดตั้งสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน(สำนักงาน ปปง.) เพื่อเป็นหน่วยงานหลักสำคัญในการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน โดยเป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ มีเลขาธิการ ปปง. เป็นหัวหน้าหน่วยงาน ทำหน้าที่บังคับบัญชาและรับผิดชอบดูแลหน่วยงาน โดยมีอำนาจในการบังคับใช้กฎหมายและอำนาจในการบริหารหน่วยงาน จึงเป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญยิ่ง ดังนั้นผู้ที่ดำรงตำแหน่งดังกล่าวต้องมีความรู้ความสามารถและมีคุณสมบัติตามที่พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 กำหนดไว้ และต้องปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างอิสระตามรัฐธรรมนูญ แต่เนื่องจากได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว โดยพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2551 ที่ลดบทบาทของเลขาธิการ ปปง. ลงในหลายมาตรา ทำให้เกิดปัญหาจากบทบัญญัติของกฎหมายที่แก้ไขเพิ่มเติมในส่วนของเลขาธิการ ปปง. หลายประการ ดังนั้น วิทยานิพนธ์ฉบับนี้จึงได้ทำการศึกษาในเรื่องอำนาจหน้าที่และการบังคับใช้กฎหมายของเลขาธิการ ปปง. ภายหลังการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายฟอกเงิน โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายของเลขาธิการ ปปง. เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายอย่างแท้จริง และจากการศึกษาพบว่า บทบัญญัติบางมาตราที่ได้แก้ไขเพิ่มเติมทำให้กฎหมายฟอกเงินมีความสมบูรณ์และรัดกุมมากขึ้น เช่น การตรวจสอบการทำงานจากหน่วยงานภายนอกสำนักงาน ปปง. เป็นต้น แต่การแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติในส่วนของเลขาธิการ ปปง. กลับส่งผลกระทบต่อการทำงานของเลขาธิการ ปปง. มากเช่นกัน โดยมีการลดอำนาจและบทบาทในการบังคับใช้กฎหมายของเลขาธิการ ปปง. ผู้เขียนจึงได้ทำการวิเคราะห์ปัญหาดังกล่าวและได้เสนอแนะแนวทางแก้ปัญหาไว้ โดยผู้เขียนหวังว่า ข้อเสนอแนะนี้จะเป็นประโยชน์ในการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายฟอกเงินในส่วนของเลขาธิการ ปปง. ในอนาคตให้มีประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายมากขึ้น