Abstract:
วัตถุประสงค์ของการศึกษาเพื่อศึกษาอุบัติการณ์ รูปแบบ และปัจจัยพยากรณ์การลุกลามของโรค ปริทันต์อักเสบในช่วงเวลา 5 ปี ของคนไทยสูงอายุกลุ่มหนึ่ง จำนวน 1,532 คน ที่ได้รับการตรวจทางการแพทย์ และการตรวจสภาวะปริทันต์ ซึ่งประกอบด้วยการตรวจดัชนีคราบจุลินทรีย์เก็บข้อมูลจาก 2 ตำแหน่งของฟัน การตรวจระดับเหงือกร่น และร่องลึกปริทันต์เก็บข้อมูลจาก 6 ตำแหน่งของฟันใน 2 จตุภาคของช่องปากที่สุ่มตรวจในปี พ.ศ. 2545 และของฟันทุกซี่ในช่องปากที่ตรวจในปี พ.ศ. 2550 ทำการวิเคราะห์ข้อมูลการลุกลามของโรคด้วยการเปรียบเทียบค่าระดับยึดของอวัยวะปริทันต์ทางคลินิกในแต่ละตำแหน่งที่ทำการตรวจระหว่าง 2 ช่วงเวลาที่ทำการศึกษา โดยกำหนดให้การเกิดการลุกลามของโรคคือ กลุ่มตัวอย่าง หรือตำแหน่งที่มีการเพิ่มขึ้นของระดับยึดของอวัยวะปริทันต์ทางคลินิกอย่างน้อย 3 มิลลิเมตร ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,015 คน (ร้อยละ 66.8) เกิดอุบัติการณ์การลุกลามของโรคอย่างน้อย 1 ตำแหน่ง ขณะที่ค่าเฉลี่ยขอบเขตการลุกลามของโรคมีค่าเท่ากับร้อยละ 6.5 รูปแบบการสูญเสียฟันและการเกิดการลุกลามของโรคมีความสมมาตรกันในขากรรไกรทั้งบนและล่าง ตำแหน่งในซี่ฟันที่มีอุบัติการณ์การลุกลามของโรคมีความแตกต่างกันตามตำแหน่งฟัน องค์ประกอบของการลุกลามของโรคส่วนใหญ่เป็นผลจากการเพิ่มระดับเหงือกร่นมากกว่าการเพิ่มระดับร่องลึกปริทันต์ การวิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติโลจิสติก รีเกรสชัน แสดงให้เห็นว่าปัจจัยเพศชาย ระดับการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี การสูบบุหรี่ และการเป็นโรคปริทันต์อักเสบเรื้อรังทั่วไปแบบรุนแรง ณ จุดเริ่มต้น มีความสัมพันธ์กับการเกิดอุบัติการณ์และขอบเขตการลุกลามของโรคปริทันต์อักเสบในระดับมากอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) ส่วนปัจจัยโรคเบาหวานพบว่ามีอิทธิพลต่อขอบเขตการลุกลามของโรคในระดับมากเท่านั้น (p<0.05) ทั้งนี้ปัจจัยอายุ รายได้ครัวเรือน ระดับดัชนีมวลกาย กลุ่มอาการเมตาบอลิก ประวัติการรักษาทางปริทันต์ในช่วง 5 ปี และดัชนีคราบจุลินทรีย์ พบว่าไม่มีอิทธิพลต่อการลุกลามของโรคอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p>0.05) ผลการศึกษาครั้งนี้สรุปได้ว่า กลุ่มตัวอย่างสูงอายุจำนวนมากมีการลุกลามของโรคปริทันต์อักเสบ แต่บริเวณด้านฟันที่มีการลุกลามของโรคมีน้อย อุบัติการณ์การลุกลามของโรคมีความสมมาตรในระดับฟัน แต่มีความแตกต่างในระดับตำแหน่งในซี่ฟันตามตำแหน่งฟันที่ต่างกัน ในส่วนปัจจัยพยากรณ์พบว่า เพศ การศึกษา การสูบบุหรี่ และสภาวะปริทันต์ ณ จุดเริ่มต้น มีความสัมพันธ์ในการเป็นปัจจัยพยากรณ์การลุกลามของโรคปริทันต์อักเสบอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ