Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษานวนิยายเรื่องคู่กรรมและการนำมาผลิตซ้ำในสื่อแขนงอื่น ได้แก่ ละครโทรทัศน์ ภาพยนตร์ และละครเวที ว่ามีอิทธิพลในการสร้างทัศนคติของคนในสังคมไทยที่มีต่อภาพลักษณ์ของชาวญี่ปุ่นและความเป็นญี่ปุ่นอย่างไร โดยใช้ทฤษฎีสายนีโอ-มาร์กซิสม์ทางด้านอุดมการณ์ครอบงำของอันโตนิโอ กรัมชี และ มายาคติของโรลองด์ บาร์ตส์ เป็นฐานคิดในการศึกษาวิจัย ซึ่งวรรณกรรมต้นแบบรวมถึงสื่อชนิดต่างๆ ล้วนเป็นตัวกลางถ่ายทอดความคิดหรืออุดมการณ์ของผู้เขียนไปยังผู้อ่านหรือผู้รับสาร รวมทั้งมีอิทธิพลที่จะสามารถครอบงำผู้รับสารให้มีความคิดคล้อยตามได้ ผู้เขียนได้สอดใส่แนวคิด อุดมการณ์ ความเชื่อของตนด้วยการนำเสนอผ่านทางสัญญะ ให้ผู้อ่านคล้อยตามโดยไม่รู้สึกตัวและไม่ทันได้ตั้งคำถาม ซึ่งก็คือ "มายาคติ" ที่ได้ผ่านกระบวนการผลิตสร้างความหมายบางอย่างขึ้นมา กล่าวคือผู้เขียนเลือกที่จะนำเสนอแต่มุมมองเฉพาะด้านดีของญี่ปุ่นและอุดมการณ์ทหารนิยม รวมทั้งผู้เขียนยังทำให้ผู้อ่านมองข้ามอดีตและประวัติศาสตร์ที่เป็นทัศนคติด้านร้าย ให้มองเห็นเฉพาะภาพและความหมายแบบที่ผู้เขียนต้องการจะสื่อไปยังผู้รับสาร มีเป้าหมายในการสถาปนาแนวคิดของตนให้กลายเป็นวัฒนธรรมหรือชุดความคิดหนึ่งของสังคม ถ่ายทอดแนวคิดของตนผ่านทางวรรณกรรมที่มีรูปแบบเพื่อความบันเทิงและได้รับความนิยมมากจนถูกนำมาผลิตซ้ำในสื่อแขนงอื่น ทำให้ยิ่งสามารถสื่อสารไปยังประชาชนในวงกว้างมากขึ้น และยิ่งเป็นการตอกย้ำความหมายดังกล่าวให้กลายเป็นความจริงเสมือน รวมทั้งทำให้ยินยอมพร้อมใจคล้อยตามได้โดยง่าย