Abstract:
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาบริบทเงื่อนไขทางสังคมและวัฒนธรรมที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสู่การทำงานสันติภาพของผู้หญิงมุสลิมที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และศึกษาบทบาทการทำงานสันติภาพ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงบทบาทของผู้หญิงเหล่านี้ในพื้นที่ส่วนตัวและพื้นที่สาธารณะ ผู้วิจัยใช้วิธีวิจัยเชิงคุณภาพโดยการสัมภาษณ์แบบเจาะลึก การสืบประวัติชีวิตผ่านเรื่องเล่า การสังเกตการณ์ภาคสนามและการศึกษาจากการนำเสนอในเวทีสาธารณะของผู้ได้รับผลกระทบ ผลการศึกษาพบว่า บริบทเงื่อนไขสำคัญทางสังคมและวัฒนธรรมที่นำไปสู่การเปลี่ยนผ่านจากเหยื่อสู่การทำงานสันติภาพของผู้หญิงมุสลิม ประกอบด้วย การใช้ทุนที่มีอยู่เดิมจากการยึดถือและปฏิบัติตามหลักคำสอนของศาสนาอิสลาม และการมีความสัมพันธ์อันแนบแน่นระหว่างสมาชิกในครอบครัวและชุมชน การใช้ทุนทางสังคมใหม่ที่เกิดขึ้นจากการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้คนต่างๆ ท่ามกลางความรุนแรง อันนำไปสู่การเป็นเครือข่ายทางสังคมกับกลุ่มองค์กรภายนอกกลุ่มภาคประชาสังคม และเจ้าหน้าที่ทหาร และการได้รับโอกาสหรือมีพื้นที่สาธารณะเพื่อให้ผู้ได้รับผลกระทบสามารถตระหนักและแสดงศักยภาพของตนเอง ในขณะที่ความขัดแย้งและความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคงดำเนินอยู่ และยังคงส่งผลให้ผู้หญิงหลายคนต้องสูญเสียสมาชิกเพศชายในครอบครัว อย่างไรก็ตาม บทบาทการทำงานสันติภาพของผู้หญิงเหล่านี้ก็ส่งผลต่อการขับเคลื่อนความขัดแย้งไปสู่การสร้างสันติภาพ ทั้งจากการปรับเปลี่ยนตนเองในระดับปัจเจกจากเหยื่อมาเป็นผู้ให้ การปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล รวมถึงการปรับเปลี่ยนบทบาทและความสัมพันธ์ในครอบครัวและชุมชน มาสู่การเป็นผู้นำครอบครัว รวมทั้งเป็นผู้นำชุมชนในการประสานงานกับเจ้าหน้าที่รัฐและองค์กรภาคประชาสังคม