Abstract:
เมื่อพิจารณาบทบาทของทองคำกับเศรษฐกิจการเมืองโลกตั้งแต่ ปี ค.ศ. 1900 จนกระทั่งปัจจุบันพบว่าบทบาทของทองคำเปลี่ยนแปลงไปจากช่วงของทุนการผลิตไปสู่ทุนการเงินในฐานะของเครื่องมือสะสมทุนตลอดจนการสร้างความมั่งคั่งและการรักษาไว้ซึ่งความมั่งคั่งรวมถึงการใช้ทองคำเป็นเครื่องประดับและทางด้านอุตสาหกรรมและทางการแพทย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแล้วบทบาทต่อการกำหนดการบริหารนโยบายทางการเงิน โดยมีเป้าหมายสำคัญเพื่อสร้างเสถียรภาพให้กับระบบการเงินในฐานะของทุนสำรองระหว่างประเทศของธนาคารกลางต่างๆ ตลอดจนการเก็งกำไรผ่านตลาดเงินและตลาดทุนและเป็นเครื่องมือในการประกันความเสี่ยงจากระบบอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราที่มีความสัมพันธ์กับสกุลเงินตราหลัก คือ เงิน ดอลล่าร์สหรัฐ และความเสี่ยงทางด้านความขัดแย้งทางการเมืองและความมั่งคงความผันผวนของระบบเศรษฐกิจการเงินโลก ความกังวลต่อภาวะเงินเฟ้อ การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาถึงบทบาทของทองคำในเศรษฐกิจการเมืองโลกหลังสงครามโลกครั้งที่สองจนถึงปัจจุบันและศึกษาถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจการเมืองโลกว่าส่งผลกระทบต่อบทบาทของทองคำ ผลการศึกษาพบว่าความสัมพันธ์ทางด้านเศรษฐกิจหลังสงครามโลกครั้งที่สองและทองคำเปลี่ยนแปลงไปซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของระบบการเมืองและเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงกันอย่างแนบแน่น ผ่านการประชุมทางการเงินที่เมืองเบรทตั้นวูดส์ในฐานะของระบบมาตรฐานปริวรรตทองคำเนื่องจากมีการเพิ่มบทบาทหน้าที่ของสกุลเงินดอลล่าร์ให้กลายเป็นสกุลหลักของโลก แต่อย่างไรก็ตามเงินสกุลดอลล่าห์สหรัฐจำต้องผูกโยงกับทองคำเพราะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับระบบการเงินดังกล่าวด้วยการใช้ทองคำเป็นเครื่องมือทางการเงินประการหนึ่งที่ค้ำจุนเงินดอลล่าร์ให้มีสถานะที่มั่นคง รวมไปถึงการสร้างสิทธิไถ่ถอนพิเศษหรือทองกระดาษเข้ามาแทนที่ทองคำบางส่วนในด้านของการเป็นสินทรัพย์สำรองและการแก้ไขดุลการชำระเงินระหว่างประเทศ ตลอดจนบทบาทของทองคำในด้านของการเป็นเครื่องมือทางการเงินที่สำคัญต่อการบริหารความเสี่ยง การเป็นสินทรัพย์ที่สามารถต่อกรกับเงินเฟ้อหรือเงินตราได้ดีที่สุดและการเป็นแหล่งการลงทุนที่ปลอดภัย การใช้เป็นสินทรัพย์ทุนสำรองระหว่างประเทศและการเป็นเงินตราโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกิดวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจและการเมือง