Abstract:
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงราคาน้ำมันที่มีต่อสาขาเกษตรของประเทศไทย โดยแบ่งการศึกษาออกเป็น 2 ส่วน ส่วนที่หนึ่งเป็นการศึกษาผลกระทบโดยใช้เมตริกซ์บัญชีสังคมของประเทศไทย ปีพ.ศ.2541 มาเป็นฐานข้อมูลเพื่อวิเคราะห์ผลกระทบผ่านแบบจำลองราคา ส่วนที่สองเป็นการศึกษาผลกระทบโดยการออกเก็บข้อมูลภาคสนามเพื่อสัมภาษณ์เกษตรกรถึงผลกระทบที่ได้รับ ทั้งด้านต้นทุนการผลิต ค่าครองชีพ รวมถึงทัศนคติที่มีต่อพลังงานทางเลือก ผลการศึกษาพบว่า การเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันส่งผลกระทบต่อระดับราคาของสาขาการผลิตทุกสาขา โดยสาขาการผลิตที่ได้รับผลกระทบสูงสุด ได้แก่ สาขาการบริการทางการเกษตร รองลงมาคือ สาขาประมง ส่วนราคาสินค้าของสาขาการผลิตพืช สินค้าเกษตรแปรรูปอยู่ในอันดับถัดมา และราคาสินค้าของสาขาปศุสัตว์จะมีการปรับตัวสูงขึ้นในอันดับสุดท้าย ส่วนผลกระทบที่ภาคสถาบันได้รับคือ การใช้จ่ายในครัวเรือนเกษตร การใช้จ่ายในการลงทุนของหน่วยธุรกิจ และการใช้จ่ายของรัฐบาลลดลง ผลการสัมภาษณ์เกษตรกรพบว่า ต้นทุนการผลิตของเกษตรกรสูงขึ้น โดยที่เกษตรกรส่วนใหญ่ไม่สามารถลดต้นทุนการผลิตด้านน้ำมันเชื้อเพลิงได้ เนื่องจากปริมาณการผลิตพลังงานทางเลือกและสถานีบริการยังไม่แพร่หลาย ประกอบกับความไม่มั่นใจในคุณภาพของพลังงานทางเลือก นอกจากนี้ยังพบว่าค่าครองชีพในปัจจุบันสูงขึ้น เนื่องจากราคาสินค้าในตลาดแพงขึ้น อันเป็นผลมาจากการปรับตัวของราคาน้ำมัน จากผลการศึกษามีข้อเสนอแนะดังนี้ หน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องควรสนับสนุนให้มีการใช้พลังงานทางเลือกให้มากขึ้น รวมทั้งสร้างทัศนคติที่ดีต่อพลังงานทางเลือกให้แก่ผู้บริโภค เพื่อให้ผู้บริโภคหันมาใช้พลังงานทางเลือกมากขึ้น ส่วนในระยะยาว ควรเพิ่มสถานีบริการให้เพียงพอต่อความต้องการ โดยเฉพาะสถานีบริการก๊าซธรรมชาติ (NGV) ซึ่งเป็นพลังงานทางเลือกที่ประเทศไทยสามารถผลิตได้เอง นอกจากนี้ควรให้ทุนวิจัยสนับสนุนการศึกษาหรือจัดตั้งโครงการทดลองสาธิตในการใช้พลังงานทางเลือกด้านอื่นมาทดแทนการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงได้อย่างถาวร