Abstract:
งานศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาพฤติกรรมการบริโภคและการออมไว้ใช้ยามฉุกเฉินที่เกิดจากความไม่แน่นอนของรายได้ อันเป็นพฤติกรรมที่ทำให้การบริโภคไม่เป็นไปตามทฤษฎีการบริโภคตามรายได้ถาวรในวงจรชีวิต ซึ่งศึกษาทั้งพฤติกรรมของครัวเรือนไทยโดยรวมและครัวเรือนไทยที่แบ่งตามอายุ ลักษณะรายได้ ระดับการศึกษาและถิ่นที่อยู่อาศัย โดยใช้ข้อมูลภาคตัดขวางจากรายงานการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคม ปี พ.ศ. 2549 จากสำนักงานสถิติแห่งชาติ จำนวน 42,484 ครัวเรือน ผ่านกระบวนการสร้างฟังก์ชันรายได้ในการคาดการณ์รายได้ถาวร และจัดกลุ่มครัวเรือนอย่างมีระบบในการหาค่าความแปรปรวนของรายได้ เพื่อแก้ไขข้อจำกัดของข้อมูลที่ทำให้ไม่สามารถทราบรายได้ถาวรและความแปรปรวนของรายได้แต่ละครัวเรือนโดยตรง และทำการประมาณค่าฟังก์ชันการบริโภคที่มีพื้นฐานจาก Zhou (2003) ด้วยวิธี Maximum Likelihood ผลการศึกษาพบว่า ครัวเรือนไทยโดยรวม ครัวเรือนรายได้สูง ครัวเรือนรายได้ปานกลางไม่มีพฤติกรรมการออมไว้ใช้ยามฉุกเฉิน แต่พบการออมประเภทดังกล่าวในครัวเรือนรายได้ต่ำบางลักษณะเท่านั้น ได้แก่ ครัวเรือนรายได้ต่ำวัยทำงาน ครัวเรือนรายได้ต่ำที่หัวหน้าครัวเรือนไม่มีรายได้ประจำ และครัวเรือนรายได้ต่ำที่ไม่ได้อยู่ในกรุงเทพและปริมณฑล ขณะที่การวัดการศึกษาที่ต่างกันทำให้ไม่สามารถสรุปได้ว่า ครัวเรือนรายได้ต่ำที่มีการศึกษาต่ำหรือครัวเรือนรายได้ต่ำที่มีการศึกษาสูงมีการออมไว้ใช้ยามฉุกเฉิน ดังนั้นกลุ่มครัวเรือนดังกล่าวจึงควรเป็นเป้าหมายที่ภาครัฐจะออกนโยบายในการลดความไม่แน่นอนทางด้านรายได้ เพื่อสร้างความมั่นคงให้แก่ผู้บริโภค นอกจากนี้การใช้นโยบายในการควบคุมหรือส่งเสริมปัจจัยทางด้านระดับความไม่แน่นอนที่ครัวเรือนเผชิญ ก็ทำให้ภาครัฐสามารถรักษาระดับการออมไว้ใช้ยามฉุกเฉินซึ่งถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการออมภาคเอกชนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมได้