Abstract:
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยด้านงบการเงินกับการปรับประมาณการกำไรของนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ โดยกลุ่มตัวอย่างได้แก่ บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยช่วงเวลา พ.ศ. 2545-2549 ในรูปแบบการวิจัยเชิงประจักษ์ โดยวิธีการศึกษาใช้วิธีการวิเคราะห์สหสัมพันธ์ (Correlation Analysis) และการวิเคราะห์ความถดถอยเชิงพหุแบบภาคตัดขวาง (Cross-sectional multiple regression analysis) ในการทดสอบความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยด้านงบการเงินกับการปรับประมาณการกำไรของนักวิเคราะห์ โดยปัจจัยด้านงบการเงิน ประกอบด้วย ปัจจัยด้านสินค้าคงเหลือ ปัจจัยด้านลูกหนี้การค้า ปัจจัยด้านกำไรขั้นต้น ปัจจัยด้านรายจ่ายฝ่ายทุน ปัจจัยด้านค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร ปัจจัยด้านหนี้สิน และความเห็นของผู้สอนบัญชีแบบที่เปลี่ยนแปลงไปกรณีการจำกัดขอบเขตการตรวจสอบปัญหาการดำเนินงานต่อเนื่อง และปัญหาความไม่แน่นอนอื่นๆ ผลการวิจัยพบว่า ปัจจัยด้านกำไรขั้นต้น ปัจจัยด้านค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารปัจจัยด้านหนี้สิน และความเห็นของผู้สอบบัญชีแบบที่เปลี่ยนแปลงไปกรณีการจำกัดขอบเขตการตรวจสอบนั้นมีความสัมพันธ์ในทิศทางตรงกันข้ามกับการปรับประมาณการกำไรของนักวิเคราะห์ ในขณะที่ปัจจัยด้านลูกหนี้การค้ากลับพบความสัมพันธ์ในทิศทางเดียวกันกับการปรับประมาณการกำไรของนักวิเคราะห์ ซึ่งผลที่ได้สะท้อนให้เห็นว่านักวิเคราะห์ตระหนักถึงข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับกำไรในอนาคตที่แฝงอยู่ในปัจจัยด้านงบการเงินเหล่านี้และตอบสนองกับสัญญาณ จากปัจจัยดังกล่าวด้วยการปรับประมาณการกำไรให้เพิ่มขึ้นหรือลดลง หากสัญญาณนั้นเป็นสัญญาณในทางบวกหรือทางลบต่อกำไรในอนาคตตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ปัจจัยด้านสินค้าคงเหลือ ปัจจัยด้านรายจ่ายฝ่ายทุน ความเห็นของผู้สอบบัญชีแบบที่เปลี่ยนแปลงไปกรณีปัญหาการดำเนินงานต่อเนื่องและความไม่แน่นอนอื่นๆ นั้นกลับไม่พบความสัมพันธ์กับการปรับประมาณการกำไรของนักวิเคราะห์แต่อย่างใด