Abstract:
การวิจัยครั้งนี้ เป็นการวิจัยเชิงทดลอง โดยมุ่งศึกษาผลของการเห็นคุณค่าแห่งตน (เห็นคุณค่าแห่งตนสูงและต่ำ) การรับรู้โอกาสเลือก (รับรู้ว่าตนมีโอกาสเลือกสูงและต่ำ) และการชี้นำ (ชี้นำด้วยคำที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมสวนทางกับเจตคติ คำที่ไม่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมสวนทางกับเจตคติ และคำที่เป็นกลาง) ต่อการเกิดความไม่คล้องจองของปัญญา ผู้ร่วมการทดลองเป็นนักศึกษา ระดับปริญญาตรี จำนวน 120 คน ที่ผ่านการทำมาตรวัดเจตคติ และเขียนเรียงความที่สวนทางกับเจตคตินั้น โดยรับรู้ว่าตนมีโอกาสเลือกสูงหรือต่ำในการเขียนเรียงความ หลังจากนั้นผู้ร่วมการทดลอง ทำกิจกรรมชี้นำด้วยคำที่เกี่ยวข้อง ไม่เกี่ยวข้องกับเจตคติ และคำที่เป็นกลาง แล้วตอบมาตรวัดเจตคติในเรื่องเดิมอีกครั้ง ผลการวิจัยพบว่า 1. เมื่อได้กระทำพฤติกรรมที่สวนทางกับเจตคติโดยรับรู้ว่าตนมีโอกาสเลือกสูง ผู้ที่เห็นคุณค่าแห่งตนสูงเปลี่ยนเจตคติมากกว่าผู้ที่เห็นคุณค่าแห่งตนต่ำ ภายหลังถูกชี้นำด้วยคำที่เกี่ยวข้องกับเจตคตินั้น (p < .05) 2.เมื่อได้กระทำพฤติกรรมที่สวนทางกับเจตคติโดยรับรู้ว่าตนมีโอกาสเลือกสูง ผู้ที่เห็นคุณค่าแห่งตนต่ำเปลี่ยนเจตคติมากกว่าผู้ที่เห็นคุณค่าแห่งตนสูง ภายหลังถูกชี้นำด้วยคำที่ไม่ เกี่ยวข้องกับเจตคตินั้น (p < .01) 3. เมื่อได้กระทำพฤติกรรมที่สวนทางกับเจตคติ โดยรับรู้ว่าตนมีโอกาสเลือกสูง ผู้ที่เห็นคุณค่าแห่งตนสูงเปลี่ยนเจตคติภายหลังถูกชี้นำด้วยคำที่เกี่ยวข้องกับเจตคติมากกว่าภายหลังถูกชี้นำด้วยคำที่ไม่เกี่ยวข้องกับเจตคตินั้น (p < .01) 4. เมื่อได้กระทำพฤติกรรมที่สวนทางกับเจตคติโดยรับรู้ว่าตนมีโอกาสเลือกสูง ผู้ที่เห็นคุณค่าแห่งตนต่ำ เปลี่ยนเจตคติภายหลังถูกชี้นำด้วยคำที่ไม่เกี่ยวข้องกับเจตคติมากกว่าภายหลังถูกชี้นำด้วยคำที่เกี่ยวข้องกับเจตคตินั้น (p < .05) 5. เมื่อได้กระทำพฤติกรรมที่สวนทางกับเจตคติโดยรับรู้ว่าตนมีโอกาสเลือกสูง ผู้ที่เห็นคุณค่าแห่งตนสูงเปลี่ยนเจตคติไม่แตกต่างจากผู้ที่เห็นคุณค่าแห่งตนต่ำ ภายหลังถูกชี้นำด้วยคำที่ เป็นกลาง 6. เมื่อได้กระทำพฤติกรรมที่สวนทางกับเจตคติโดยรับรู้ว่าตนมีโอกาสเลือกต่ำ ผู้ที่เห็นคุณค่า แห่งตนสูงเปลี่ยนเจตคติไม่แตกต่างจากผู้ที่เห็นคุณค่าแห่งตนต่ำ ภายหลังถูกชี้นำด้วยคำที่ เป็นกลาง 7. เมื่อได้กระทำพฤติกรรมที่สวนทางกับเจตคติ ผู้ที่รับรู้ว่าตนมีโอกาสเลือกสูงเปลี่ยนเจตคติมากกว่าผู้ที่รับรู้ว่าตนมีโอกาสเลือกต่ำ ภายหลังถูกชี้นำด้วยคำที่เป็นกลาง (p < .01) 8. ผู้ที่เห็นคุณค่าแห่งตนสูงมีความมั่นใจในความมีน้ำใจของตนมากกว่าผู้ที่เห็นคุณค่าแห่งตนต่ำ (p < .01, หนึ่งหาง) 9.ผู้ที่เห็นคุณค่าแห่งตนสูงให้ความสำคัญกับความมีน้ำใจไม่แตกต่างจากผู้ที่เห็นคุณค่าแห่งตนต่ำ