Abstract:
การศึกษาผลของการใช้สารสกัดอะซีแมนแนนซ่อมแซมบาดแผลเยื่อบุช่องปากหนูขาวพันธุ์ Sprague-Dawley จำนวน 80 ตัว หนูทุกตัวได้รับการผ่าตัดสร้างแผลจำลองที่เพดานแข็งด้วยอุปกรณ์ตัดชิ้นเนื้อชนิดเจาะ แบ่งหนูออกเป็น 5 กลุ่มๆ ละ 16 ตัว ดังนี้ คือ กลุ่มควบคุมลบ (น้ำกลั่น) กลุ่มสารสื่อผสม (สารคาร์โบโพล) กลุ่มสารอะซีแมนแนน 0.5% กลุ่มสารอะซีแมนแนน 2% และกลุ่มไตรแอมซิโนโลน อะซิโตไนต์ 0.1% (KenalogTM) หนูได้รับป้ายแผลด้วยสารดังกล่าววันละ 1 ครั้ง ติดต่อกันนาน 14 วัน สุ่มหนูกลุ่มละ 4 ตัวทำการุญฆาต ในวันที่ 3 5 7 และ 14 ของการทดลอง เก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อเพดานแข็งแช่ในฟอร์มาลิน ตรวจและวิเคราะห์ผลโดยการวัดขนาดแผล จุลพยาธิวิทยา และอิมมูโนฮีสโตเคมีด้วยแอนติบอดีต่อ α-smooth muscle actin, proliferating cell nuclear antigen (PCNA) และ transforming growth factor (TGF-β1) ผลการทดลองพบว่า ในวันที่ 7 ของการทดลองกลุ่มสารอะซีแมนแนน 0.5% มีขนาดแผลเฉลี่ยเล็กกว่ากลุ่มทดลองอื่น และพบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มสารสื่อผสม ผลทางจุลพยาธิวิทยาไม่พบความแตกต่างระหว่างกลุ่มทดลองในวันที่เก็บตัวอย่าง ผลทางอิมมูโนฮีสโตเคมีพบว่า ดัชนีการแบ่งตัวของเซลล์ในชั้นเยื่อบุและชั้น propria-submucosa กลุ่มอะซีแมนแนน 0.5% มีค่าเฉลี่ยสูงกว่ากลุ่มทดลองอื่นในวันที่ 3 และ 5 ของการทดลอง และมีค่าเฉลี่ยจำนวนเซลล์ไมโอไฟโบรบลาสต์สูงกว่ากลุ่มทดลองอื่น ยกเว้นกลุ่มควบคุมลบในวันที่ 5 และ 7 ของการทดลอง และในวันที่ 14 ของการทดลอง กลุ่มสารอะซีแมนแนนทั้ง 0.5 และ 2% มีจำนวนเซลล์ไมโอไฟโบรบลาสต์สูงสุด แต่ไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
ดังนั้นจากผลขนาดแผลและอิมมูโนฮีสโตเคมี บ่งชี้ถึงการออกฤทธิ์ของสารอะซีแมนแนน 0.5% ที่เร่งให้แผลมีขนาดลดลงเร็วกว่ากลุ่มทดลองอื่น ผลค่าเฉลี่ยจำนวนเซลล์ที่แสดงออกโปรตีน TGF-β1 พบว่าทุกกลุ่มมีค่าเฉลี่ยขึ้นลงสลับกันตลอดการทดลอง โดยพบว่ากลุ่มควบคุมลบจะมีค่าเฉลี่ยจำนวนเซลล์สูงกว่ากลุ่มทดลองอื่นตลอดการทดลอง เมื่อเปรียบเทียบความสัมพันธ์ระหว่างค่าเฉลี่ย จำนวนเซลล์ที่แสดงออกโปรตีน TGF-β1 และค่าเฉลี่ยจำนวนเซลล์ไมโอไฟโบรบลาสต์พบว่า ไม่มีความสัมพันธ์กัน ดังนั้นจากผลการทดลองแสดงให้เห็นว่า TGF-β1 ไม่ได้เป็นปัจจัยหลักต่อการเปลี่ยนแปลงรูปร่างของเซลล์ไมโอไฟโบรบลาสต์ จากผลการทดลองครั้งนี้สรุปว่า กลุ่มสารอะซีแมนแนน 0.5% สามารถเร่งการซ่อมแซมแผลในช่องปาก โดยออกฤทธิ์เพิ่มการแบ่งตัวของเซลล์เยื่อบุในวันที่ 3 และ 5 ของการทดลองและมีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มจำนวนเซลล์ไมโอไฟโบรบลาสต์ในวันที่ 5 และ 7 ของการทดลอง ดังนั้นการศึกษาครั้งนี้ยืนยันผลการใช้สารสกัดอะซีแมนแนนจากว่านหางจระเข้ ในการเร่งการหายของแผลจำลองในเยื่อบุช่องปากหนูขาว