Abstract:
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาถึงผลกระทบด้านปริมาณและราคา โดยที่การศึกษาผลกระทบด้านปริมาณเป็นผลมาจากการผลิตไบโอดีเซลที่เพิ่มขึ้น ตามเป้าหมายของยุทธศาสตร์การพัฒนาและส่งเสริมการใช้ไบโอดีเซลจากปาล์มน้ำมันในปี พ.ศ. 2552-2555 ของ กระทรวงพลังงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยการใช้ตารางปัจจัยการผลิตและผลผลิต (I-O table) ขนาด 180 x 180 สาขาการผลิตของปี พ.ศ. 2543 เพื่อสร้างตารางปัจจัยการผลิตและผลผลิตในประเทศไทยปี พ.ศ. 2551 ขนาด 186 x 186 สาขา การผลิต ซึ่งได้ปรับปรุงให้ทันสมัย โดยใช้ค่า GDP ของปี พ.ศ. 2551 และมีการสำรวจรวมถึงปรับปรุงโครงสร้างการผลิตใหม่ในส่วนของการผลิตไบโอดีเซล รวมแล้วมีการสร้างสาขาการผลิตเพิ่มเข้าไปทั้งหมด 8 สาขา การผลิต ได้แก่ สาขาการผลิตน้ำมันปาล์มดิบ, สาขาการผลิตน้ำมันมะพร้าวและน้ำมันปาล์มอื่นๆ (ที่ไม่ใช่น้ำมันปาล์มดิบ), สาขาการผลิตน้ำมันดีเซล, สาขาการผลิตน้ำมันปิโตรเลียมอื่น (ที่ไม่ใช่น้ำมันดีเซล) และ ก๊าซธรรมชาติ, สาขาการผลิต B2, สาขาการผลิต B5, สาขาการผลิต B10 และสาขาการผลิตไบโอดีเซล (B100) จากนั้นใช้ดัชนีความเชื่อมโยงไปข้างหลังและไปข้างหน้า, แบบจำลองที่แสดงผลกระทบต่ออุตสาหกรรมต้นน้ำ (Upstream Effect) และผลกระทบต่ออุตสาหกรรมท้ายน้ำ (Downstream Effect) และแบบจำลองที่แสดงผลกระทบด้านต้นทุนของผลผลิตในการวิเคราะห์ผลกระทบดังกล่าว จากผลการศึกษา พบว่า สาขาการผลิตที่มีความเป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำสูงในปี พ.ศ. 2551ได้แก่ สาขาการค้าส่ง, สาขาการค้าปลีก และสาขาการผลิตน้ำมันดีเซล ตามลำดับ ส่วนสาขาการผลิตที่มีความเป็นอุตสาหกรรมท้ายน้ำสูงในปี พ.ศ. 2551 ได้แก่ สาขาการผลิตไบโอดีเซล, สาขาผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่ได้จาก แป้งมันสำปะหลังและแป้งมัน และสาขาการผลิตน้ำมันปาล์มดิบ ตามลำดับ หากการผลิตไบโอดีเซลในประเทศไทยเป็นไปตามเป้าหมายการผลิตไบโอดีเซลในปี พ.ศ. 2552 – 2555 จะได้ว่า สาขาการผลิตที่เป็นอุตสาหกรรม ต้นน้ำของการผลิตไบโอดีเซลที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ สาขาการทำสวนปาล์ม, สาขาการค้าปลีก และสาขาการผลิตน้ำมันปาล์มดิบ ตามลำดับ ส่วนสาขาการผลิตที่เป็นอุตสาหกรรมท้ายน้ำของการผลิตไบโอดีเซล ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ สาขาการค้าปลีก, สาขาการทำสวนปาล์ม และสาขาการค้าส่ง ตามลำดับ นอกจากนี้ยังพบว่า การผลิตไบโอดีเซลในปี พ.ศ. 2551 ทำให้ชาวสวนปาล์มได้รับกำไรถึงร้อยละ 43.25 ของต้นทุนด้านปัจจัยการผลิตพื้นฐาน แต่สำหรับน้ำมันปาล์มดิบและไบโอดีเซลกลับไม่คุ้มในการลงทุน เนื่องจาก มีต้นทุนด้านวัตถุดิบที่สูงมาก ส่วนน้ำมันดีเซลนั้นต้องมีการนำเข้าจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก ซึ่งส่งผลต่อเนื่องทำให้ B2 และ B5 มีต้นทุนด้านน้ำมันดีเซลสูงด้วย และสถานการณ์การปรับตัวของราคาปัจจัยการผลิตที่ควรพึงระวังมากที่สุด คือ การปรับตัวสูงขึ้นของราคาผลปาล์มดิบและน้ำมันดีเซลในเวลาเดียวกัน