Abstract:
งานวิจัยนี้มีจุดประสงค์เพื่อพัฒนาและตรวจสอบโมเดลเชิงสาเหตุของสุขภาวะผู้สูงอายุไทยหลังเกษียณอายุงาน ในการศึกษาอิทธิพลของการรับรู้สุขภาพ รายได้ และระดับการศึกษา ที่ส่งผ่านระดับกิจกรรม และการควบคุมการตัดสินใจ ไปยังสุขภาวะของผู้สูงอายุหลังเกษียณอายุงาน โมเดลที่พัฒนาขึ้นประกอบด้วยตัวแปรแฝง 6 ตัว และตัวแปรสังเกตได้ 15 ตัว กลุ่มตัวอย่างคือผู้สูงอายุวัยเกษียณอายุงาน อายุ 55 ถึง 89 ปี ที่เคยทำงานมาไม่ต่ำกว่า 10 ปีจนถึงวันที่เกษียณอายุงาน จำนวน 440 คน ตรวจสอบความตรงของโมเดลโดยการวิเคราะห์โมเดลสมการโครงสร้างด้วยโปรแกรมลิสเรล (LISREL 8.8 for students) ผลการวิเคราะห์โมเดลพบว่า โมเดลมีความสอดคล้องกลมกลืนกับข้อมูลเชิงประจักษ์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยมีค่าไค-สแควร์ เท่ากับ 55.156, df = 41, p = .069, RMSEA เท่ากับ .028 ค่า Standardized RMR เท่ากับ .033 ค่า GFI เท่ากับ .984 และ ค่า AGFI เท่ากับ .952 โดยตัวแปรอิสระทั้ง 5 ตัวในโมเดลสามารถอธิบายความแปรปรวนในตัวแปรสุขภาวะได้ร้อยละ 52.30 และมีรูปแบบอิทธิพลดังนี้ คือ 1) การรับรู้สุขภาพ ส่งอิทธิพลทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อสุขภาวะผ่าน ระดับกิจกรรม 2) ระดับการศึกษา ส่งอิทธิพลโดยตรงต่อสุขภาวะ 3) รายได้ ส่งอิทธิพลทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อสุขภาวะโดยผ่านการควบคุมการตัดสินใจ ผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่า ผู้สูงอายุไทยหลังเกษียณอายุงานที่รับรู้ว่าตนเองมีสุขภาพดีจะส่งผลโดยตรงต่อการมีสุขภาวะที่ดีของตน และส่งผลทางอ้อมผ่านระดับการทำกิจกรรมที่สูงขึ้น อันจะนำไปสู่การมีสุขภาวะที่ดีได้ต่อไป นอกจากนี้ ผู้สูงอายุไทยหลังเกษียณอายุงานที่มีการศึกษาดีมักจะมีสุขภาวะที่ดี และการมีรายได้หลังเกษียณอายุงานในระดับสูง จะส่งผลโดยตรงให้ผู้สูงอายุวัยเกษียณอายุงานมีสุขภาวะที่ดี หรือส่งผลทางอ้อมโดยทำให้ผู้สูงอายุวัยเกษียณอายุงานรับรู้ว่าตนสามารถควบคุมการตัดสินใจเลือกเกษียณอายุงานได้ด้วยตนเอง และนำไปสู่การมีสุขภาวะที่ดีได้เช่นกัน