Abstract:
ตรวจสอบความตรงของโมเดลเชิงสาเหตุแสดง อิทธิพลของลักษณะเป้าหมายของบิดามารดาที่มีต่อพฤติกรรมอยากเรียน ความรู้สึกอยากเรียน และผลการเรียนของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย โดยมีลักษณะเป้าหมายส่วนตนของนักเรียนเป็นตัวแปรส่งผ่าน กลุ่มตัวอย่างในการวิจัยคือ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ในกรุงเทพมหานคร จำนวน 600 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นชุดแบบสอบถามที่มีค่าความเที่ยงอยู่ระหว่าง .71-.89 ผลการวิเคราะห์โมเดลโดยใช้โปรแกรมลิสเรล 8.72 พบว่า โมเดลมีความสอดคล้องกับข้อมูลเชิงประจักษ์ โดยตัวแปรอิสระในโมเดลอธิบายพฤติกรรม อยากเรียนได้คิดเป็น 29% (chi-square = 2.65, df = 2, p = .265, GFI = 0.998, AGFI = 0.984) อธิบายความรู้สึกอยากเรียนได้คิดเป็น 11% (chi-square = 2.65, df = 2, p = .265, GFI = 0.998, AGFI = 0.984) และอธิบายผลการเรียนได้คิดเป็น 22% (chi-square = 2.82, df = 2, p = .244, GFI = 0.998, AGFI = 0.983) ผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่า ลักษณะเป้าหมายของบิดามารดาแบบต่างๆ มีอิทธิพลทางตรงและทางอ้อมต่อพฤติกรรมอยากเรียน ความรู้สึกอยากเรียน และผลการเรียน ผ่านลักษณะเป้าหมายส่วนตนของนักเรียนแบบต่างๆ แตกต่างกัน ซึ่งโดยรวมแล้วลักษณะเป้าหมายแบบมุ่งเรียนรู้จะส่งผลดี ต่อผลลัพธ์ด้านการเรียนรู้มากที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับลักษณะเป้าหมายแบบมุ่งแสดง ความสามารถและแบบมุ่งหลีกเลี่ยงการด้อยความสามารถ