Abstract:
งานวิจัยนี้มุ่งที่จะศึกษากระบวนการเกิดเครือข่ายทางสังคมในชุมชนสวนหลวง เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร ตลอดจนความเชื่อมโยงระหว่างเครือข่ายทางสังคมกับการรับรู้และการสร้างสุขภาวะทางปัญญาในการรับมือกับวิกฤตไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 โดยผู้วิจัยใช้วิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ เก็บรวบรวมข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์เชิงลึก และการสังเกตการณ์ ซึ่งผลการศึกษาพบว่า เครือข่ายทางสังคมในชุมชนสวนหลวงนั้นมีอยู่จริง ซึ่งการปฏิสัมพันธ์ทางสังคมภายในชุมชนเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่นำไปสู่กระบวนการเกิดเครือข่ายทางสังคมขึ้นมา ประกอบด้วยการติดต่อสื่อสาร การแลกเปลี่ยนต่างตอบแทน และความเหนียวแน่น หรือความเป็นปึกแผ่นทางสังคม ซึ่งการปฏิสัมพันธ์ดังกล่าวนั้น ส่วนหนึ่งได้รับการหล่อหลอมจากสภาพแวดล้อม ที่เกิดขึ้นภายในชุมชน โดยมีความต้องการต่างๆ ในระดับปัจเจกบุคคลเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญ ที่ทำให้ชาว ชุมชนสวนหลวงต่างมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมต่อกัน สำหรับการคงอยู่ของเครือข่ายทางสังคมดังกล่าวเกิดจาก บทบาทของภาวะผู้นำ (leadership) ภายในชุมชนเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาถึงการรับรู้และการ รับมือกับวิฤตการณ์ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 แล้ว พบว่า การรับรู้เกี่ยวกับวิฤตการณ์ไข้หวัดใหญ่สาย พันธุ์ใหม่ 2009 ของชาวชุมชนสวนหลวงนั้นเกิดขึ้นในระดับปัจเจกบุคคลมากกว่าการได้รับอิทธิพลจาก เครือข่ายทางสังคม สำหรับอิทธิพลของเครือข่ายทางสังคมที่มีต่อการสร้างสุขภาวะทางปัญญาของชาวชุมชนสวนหลวงนั้น พบว่า สุขภาวะทางปัญญาด้านการมีส่วนร่วมในพฤติกรรมการป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่009 ค่อนข้างได้รับอิทธิพลจากการรับรู้ส่วนบุคคลมากกว่าเครือข่ายทางสังคม โดยมีความต้องการทางกายภาพเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญ ในขณะที่สุขภาวะทางปัญญาด้านการเจริญสติและการมีสำนึกรับผิดชอบต่อสังคม ในด้านหนึ่งได้รับอิทธิพลจากเครือข่ายทางสังคม ซึ่งเกิดจากการแลกเปลี่ยนต่างตอบแทน และการติดต่อสื่อสารภายในเครือข่ายทางสังคม โดยมีความต้องการทางจิตใจและสังคมเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญ อย่างไรก็ตามสุขภาวะทางปัญญาด้านการเจริญสติและการมีสำนึกรับผิดชอบต่อสังคมก็เป็นผลสืบเนื่องมาจากสุขภาวะทางปัญญาด้านการสังเคราะห์หรือการถอดบทเรียนจากประสบการณ์ในการรับรู้และการมีส่วนร่วมในพฤติกรรมการป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ของชาวชุมชนสวนหลวงในระดับปัจเจกบุคคลด้วยเช่นกัน