Abstract:
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความมีคุณค่าส่วนเพิ่มของการเปิดเผยข้อมูลจำแนกตามส่วนงาน ที่พิจารณาจาก 3 มุมมอง คือ ความแตกต่างของความสามารถในการทำกำไรแต่ละส่วนงานเปรียบเทียบกับกำไรโดยรวมของบริษัท ความสามารถในการพยากรณ์กำไรหรือกระแสเงินสดในอนาคต และความสามารถของราคาหุ้นในการคาดหวังข้อมูลเกี่ยวกับกำไรในอนาคตจากการเลือกเปิดเผยข้อมูลจำแนกตามส่วนงานตามมาตรฐานการบัญชีที่แตกต่างกัน กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษา คือ บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่เปิดเผยข้อมูลจำแนกตามส่วนงานอย่างน้อย 2 ส่วนงานในช่วงปี 2541-2549 งานวิจัยนี้ใช้การวิเคราะห์ความถดถอยเชิงพหุในการทดสอบความสัมพันธ์ระหว่างความแตกต่างของความสามารถในการทำกำไรและมูลค่าหลักทรัพย์ของบริษัทเพื่ออธิบายความมีคุณค่าส่วนเพิ่มของข้อมูลจำแนกตามส่วนงาน และทดสอบความสัมพันธ์ระหว่างกำไรหรือกระแสเงินสดในปัจจุบันกับกำไรหรือกระแสเงินสดในอนาคตเพื่ออธิบายความมีคุณค่าในการพยากรณ์ของบริษัทที่เลือกเปิดเผยข้อมูลจำแนกตามส่วนงานตามมาตรฐานการบัญชีฉบับที่ 50 และ 24 รวมทั้งทดสอบความสัมพันธ์ระหว่างกำไรหรือกระแสเงินสดในอนาคตกับผลตอบแทนของหลักทรัพย์ในปัจจุบันเพื่ออธิบายความสามารถของราคาหุ้นในปัจจุบันในการสะท้อนข้อมูลเกี่ยวกับกำไรในอนาคตของบริษัทที่เลือกเปิดเผยข้อมูลจำแนกตามส่วนงานตามมาตรฐานการบัญชีฉบับที่ 50 และ 24 รวมทั้งยังใช้การวิเคราะห์ความถดถอยแบบโลจิสติกส์เพื่อพิจารณาปัจจัยที่ส่งผลต่อทางเลือกในการเปิดเผยข้อมูลตามมาตรฐานการบัญชีทั้ง 2 ฉบับ จากนั้นจึงนำผลลัพธ์จากตัวแบบดังกล่าวมาใช้แก้ปัญหาความลำเอียงจากการเลือกกลุ่มตัวอย่าง และปัญหา Endogeneity อีกด้วย
ผลการศึกษาพบว่า ตัวชี้วัดความแตกต่างของความสามารถในการทำกำไรแต่ละส่วนงาน (DOP) ที่พัฒนาขึ้นโดย Chen และ Zhang (2003) จะมีคุณค่าส่วนเพิ่มเพียงบางส่วนในการอธิบายราคาหลักทรัพย์เมื่อเปรียบเทียบกับกำไรโดยรวมต่อเมื่อบริษัทได้ปันส่วนต้นทุนและสินทรัพย์ตามส่วนงานด้วยเกณฑ์ที่เหมาะสม สำหรับตัวชี้วัดของความสามารถในการทำกำไรแต่ละส่วนงานที่พัฒนาขึ้นใหม่สำหรับงานวิจัยนี้ (MDOP) มีคุณค่าส่วนเพิ่มในการอธิบายราคาหลักทรัพย์มากกว่าตัวชี้วัดที่พัฒนาขึ้นโดย Chen และ Zhang (2003) บริษัทที่เลือกเปิดเผยข้อมูลตามมาตรฐานการบัญชีฉบับที่ 50 จะส่งผลให้กระแสเงินสดในปัจจุบันมีความสัมพันธ์กับกระแสเงินสดในอนาคตมากขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับบริษัทที่เลือกเปิดเผยตามมาตรฐานการบัญชีฉบับที่ 24 รวมถึงหลังจากที่บริษัทเปิดเผยข้อมูลจำแนกตามส่วนงานตามมาตรฐานการบัญชีฉบับที่ 50 ไปแล้วระยะเวลาหนึ่งจะส่งผลให้กำไรและกระแสเงินสดในปัจจุบันเพิ่มคุณค่าในการพยากรณ์กำไรหรือกระแสเงินสดในอนาคต ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของ Hollie (2003) นอกจากนี้แล้ว หลังจากที่บริษัทเปิดเผยข้อมูลจำแนกตามส่วนงานตามมาตรฐานการบัญชีฉบับที่ 50 จะส่งผลให้ราคาหุ้นของบริษัทเพิ่มความสามารถในการคาดหวังข้อมูลเกี่ยวกับกำไรและกระแสเงินสดในอนาคตได้ดีขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาก่อนที่บริษัทจะเปิดเผย ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของ Ettredge และคณะ (2005)