Abstract:
งานวิจัยนี้ศึกษาเรื่องการมีส่วนร่วมทางการเมืองของ "ชาวบ้าน" ที่เชื่อกันว่ายังมีอัตราต่ำและไม่ค่อยมีประสิทธิภาพว่าเป็นเพราะอะไร โดยเห็นว่าแนวคิดวัฒนธรรมทางการเมืองมีข้อจำกัดจึงนำแนวคิดเรื่องตัวตนและอำนาจ (the subject & power) ของ มิเชล ฟูโกต์ (Michel Foucault) มาเป็นแนวทางศึกษาร่วมกับแนวคิดเรื่องอำนาจ 3 มิติ โดยมีสมมุติฐานว่ารัฐประกอบสร้างตัวตนและความหมายของคำว่า "ชาวบ้าน" ในเชิงด้อยศักยภาพขึ้น เพื่อก่อร่างสำนึกความด้อยศักยภาพทางการเมืองให้แก่ชาวบ้าน ชาวบ้านจึงมีพฤติกรรมจำกัดบทบาทของตนเองในการมีส่วนร่วมทางการเมือง นอกจากการศึกษาเอกสาร(documentary research)แล้ว งานวิจัยนี้ได้ทำการศึกษาภาคสนามผ่านการสัมภาษณ์แบบกึ่งมีโครงสร้าง(semi-structured interview)ในพื้นที่ชนบทจังหวัดลำปางและพื้นที่เมืองกรุงเทพมหานครเปรียบเทียบกัน เพื่อให้ทราบว่าผลลัพธ์ของปฏิบัติการในการประกอบสร้างตัวตนของ "ชาวบ้าน" ในสองพื้นที่นี้ แตกต่างกันหรือไม่อย่างไร ในแง่ของการรับรู้ตนเองในเชิงด้อยศักยภาพ และของพฤติกรรมการมีส่วนร่วมทางการเมืองของชาวบ้าน ผลจากการศึกษาพบว่า มีสหสัมพันธ์กันระหว่างการประกอบสร้างตัวตนของชาวบ้านกับความรู้สึกด้อยศักยภาพและการจำกัดตนเองในการมีส่วนร่วมทางการเมือง กระนั้น สหสัมพันธ์ดังกล่าวก็ไม่ได้ปรากฏอยู่อย่างสม่ำเสมอ กล่าวคือ ไม่จำเป็นเสมอไปที่ชาวบ้านจะต้องรู้สึกด้อยศักยภาพ หรือจำกัดตนเองอันเนื่องมาจากความรู้สึกดังกล่าว เพราะการแสดงพฤติกรรมยังมีปัจจัยแวดล้อมอื่นๆเข้ามาเป็นตัวคั่นกลางระหว่างการรับรู้กับพฤติกรรมด้วย ขณะเดียวกันก็พบว่าชาวบ้านมีพฤติกรรมท้าทายอำนาจรัฐในหลายรูปแบบ ซึ่งชี้ให้เห็นว่าชาวบ้านไม่ใช่ฝ่ายที่ถูกรัฐกระทำอยู่ฝ่ายเดียว พวกเขามียุทธวิธีในการตอบโต้รัฐด้วย แต่ก็มิได้หมายความว่าชาวบ้านไม่มีพฤติกรรมจำกัดตนเองในการมีส่วนร่วมทางการเมือง เพียงแต่รูปแบบในการจำกัดตนเองนั้นมีความซับซ้อน