Abstract:
แรงงานถือว่าเป็นปัจจัยการผลิตที่มีความสำคัญต่อประเทศไทยเป็นอย่างมาก แต่อย่างไรก็ตามจะพบว่าแรงงานส่วนใหญ่ในประเทศไทยยังได้รับค่าจ้างที่ต่ำ โดยเฉพาะแรงงานไร้ทักษะ จำเป็นที่รัฐบาลต้องเข้ามาช่วยเหลือโดยการประกาศใช้นโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งการประกาศใช้นโยบายค่าจ้างขั้นต่ำไม่เพียงส่งผลกระทบต่อแรงงานไร้ทักษะในระบบ แต่ยังส่งผลกระทบต่อแรงงานกลุ่มอื่นในระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะแรงงานไร้ทักษะนอกระบบที่เป็นแรงงานกลุ่มใหญ่ในประเทศ การศึกษาในครั้งนี้จึงได้ศึกษาว่านโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ ส่งผลดีต่อแรงงานไร้ทักษะในระบบตามที่รัฐบาลตั้งเป้าหมายไว้หรือไม่ และนอกจากนั้นยังศึกษาผลกระทบของนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ ที่มีต่อแรงงานไร้ทักษะนอกระบบที่เป็นแรงงานกลุ่มใหญ่ในประเทศ โดยใช้แบบจำลองดุลยภาพทั่วไป (Computable general equilibrium: CGE model) และบัญชีเมตริกซ์สังคมปี พ.ศ. 2549 (Social accounting matrix: SAM 2006) ในการศึกษา
ผลการศึกษาชี้ว่าเมื่อรัฐบาลประกาศใช้นโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ ส่งผลทำให้แรงงานไร้ทักษะในระบบมีค่าจ้างเพิ่มขึ้น แต่เมื่อพิจารณาทางด้านการจ้างงานกลับพบว่า แรงงานกลุ่มนี้มีการจ้างงานที่ลดลง ส่วนแรงงานไร้ทักษะนอกระบบมีค่าจ้างลดลง เนื่องมาจากแรงงานไร้ทักษะในระบบที่ถูกเลิกจ้าง ได้เข้ามาทำงานในตลาดแรงงานนอกระบบ นอกจากนี้ยังพบว่า การที่รัฐบาลประกาศใช้นโยบายค่าจ้างขั้นต่ำยังส่งผลให้ครัวเรือนที่มีรายได้ปานกลางถึงสูงมีรายได้เพิ่มขึ้น ส่วนครัวเรือนรายได้ต่ำกลับมีรายได้ที่ลดลง ส่วนภาคการผลิตมีต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นซึ่งส่งผลให้ราคาสินค้าในประเทศเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ทำให้ครัวเรือนมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำ เนื่องมาจากรายได้ไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น เพื่อที่ไม่ให้แรงงานไร้ทักษะนอกระบบได้รับผลกระทบจากนโยบายนี้ รัฐบาลจำเป็นต้องเข้ามาช่วยเหลือแรงงานกลุ่มนี้