Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาถึงความสัมพันธ์ของเจตคติที่วัดโดยตรงกับเจตคติที่วัดโดยนัย 2) ศึกษาถึงบทบาทของการกำกับการแสดงออกของตนและบุคลิกภาพแบบแมคคิเวลเลียนในการทำนายความไม่สอดคล้องระหว่างเจตคติต่อกลุ่มทางการเมืองที่วัดโดยตรงกับที่วัดโดยนัย และ3) ทดสอบประสิทธิภาพของเครื่องมือวัดเจตคติโดยนัยโดยใช้การทดสอบการเชื่อมโยงโดยนัยเพื่อนำไปใช้วัดเจตคติของบุคคลในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเมืองไทย ผู้ร่วมการวิจัยจำนวน 189 คน ผลการวิจัย พบว่า เจตคติที่วัดโดยตรงมีสหสัมพันธ์ทางบวกระดับต่ำกับเจตคติที่วัดโดยนัยอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ.001 แม้ว่าค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ของผู้ที่มีการกำกับการแสดงออกของตนต่ำจะไม่แตกต่างจากผู้ที่มีการกำกับการแสดงออกของตนสูง แต่ในผู้ที่มีการกำกับการแสดงออกของตนสูงมีความไม่สอดคล้องระหว่างเจตคติต่อกลุ่มทางการเมืองที่วัดโดยตรงกับที่วัดโดยนัยสูงกว่าผู้ที่มีการกำกับการแสดงออกของตนเองต่ำอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ.05 ในขณะที่ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์และความไม่สอดคล้องระหว่างเจตคติต่อกลุ่มทางการเมืองที่วัดโดยตรงกับที่วัดโดยนัยของผู้ที่มีบุคลิกภาพแบบแมคคิเวลเลียนสูงและต่ำไม่แตกต่างกัน การกำกับการแสดงออกของตนและบุคลิกภาพแบบแมคคิเวลเลียนร่วมกันทำนายความไม่สอดคล้องระหว่างเจตคติที่วัดโดยตรงกับที่วัดโดยนัยได้ โดยการกำกับการแสดงออกของตนเท่านั้นที่สามารถทำนายความไม่สอดคล้องระหว่างเจตคติที่วัดโดยตรงกับที่วัดโดยนัยได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ผลการทดสอบยังพบด้วยว่าการทดสอบการเชื่อมโยงโดยนัยที่พัฒนาขึ้นมีประโยชน์และสามารถวัดความนิยมต่อกลุ่มทางการเมืองของนิสิตได้