Abstract:
การวิจัยนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับบุตรแรงงานต่างด้าว ศึกษากระบวนการเข้าสู่ระบบการศึกษา กระบวนการเรียนการสอนในสถานศึกษาของรัฐ ตลอดจนศึกษาความมั่นคงของมนุษย์ด้านการศึกษาและโอกาสในชีวิตของนักเรียนบุตรแรงงานต่างด้าว โดยใช้แนวคิดเด็กย้ายถิ่น แนวคิดความมั่นคงของมนุษย์ด้านการศึกษา และแนวคิดโอกาสชีวิตเป็นกรอบการวิเคราะห์ และใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพเป็นแนวทางในการวิเคราะห์ข้อมูล ผลการวิจัยพบว่า บุตรแรงงานต่างด้าวในสมุทรสาครที่ไม่สามารถระบุจำนวนทั้งหมดได้อย่างแน่ชัดและเป็นปัจจุบันนั้น มักถูกส่งเข้าสู่ระบบการทำงานโดยมีสภาพชีวิตไม่ต่างจากแรงงานต่างด้าวผู้ใหญ่ แต่ด้วยนโยบายการศึกษาในปี 2548 ช่วยให้บุตรแรงงานต่างด้าวในวัยเรียนมากกว่า 600 คน ในปี 2552 ได้มีโอกาสเข้าศึกษาในสถานศึกษาของรัฐ โดยปัจจัยในการเข้าสู่ระบบการศึกษาประกอบด้วยการตัดสินใจของครอบครัวแรงงานต่างด้าว และการปฏิบัติตามนโยบายของผู้บริหารสถานศึกษา องค์กรพัฒนาเอกชนและชุมชนก็มีบทบาทในส่งเสริมสนับสนุนการเข้าสู่ระบบการศึกษา ผู้ปกครองมีเจตคติเชิงบวกต่อการศึกษาและมีสถานภาพทางเศรษฐกิจและสังคมที่มั่นคงพอควรจากการมีรายได้และไม่มีภาระหนี้สินมากจนเป็นอุปสรรค ในส่วนของกระบวนการเรียนการสอนในสถานศึกษาของรัฐมีการใช้เทคนิคต่าง ๆ ของชั้นเรียนที่ไม่ใช่ทวิภาษาแต่พยายามช่วยเหลือเด็กต่างด้าว เช่น การจัดชั้นเรียนแบบเรียนร่วมให้เด็กได้ช่วยเหลือกันและกัน การจัดชั้นเรียนเตรียมความพร้อมวิชาภาษาไทย การสร้างสภาพแวดล้อมนอกชั้นเรียนและการจำกัดโอกาสการใช้ภาษาชาติพันธุ์ในสถานศึกษา ส่งผลต่อการพัฒนาความรู้ ทักษะ ความสามารถ ซึ่งเชื่อมโยงถึงโอกาสชีวิตในอนาคต ผลการวิจัยยังชี้ให้เห็นว่า บุตรแรงงานต่างด้าวมีความมั่นคงทางการศึกษาในระดับหนึ่ง ซึ่งสะท้อนถึงความตระหนักของรัฐไทยที่มีต่อแนวคิดดังกล่าวด้วย