การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อพัฒนาและตรวจสอบความตรง (validation) ของโมเดลสาเหตุของความพึงพอใจในชีวิตสมรสของผู้หญิง: อิทธิพลของการสนับสนุนทางอารมณ์ การสื่อสารเรื่องเพศที่ส่งผ่านความใกล้ชิดผูกพัน และความพึงพอใจทางเพศ 2) เพื่อศึกษารูปแบบอิทธิพลทางตรงและทางอ้อมของปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความพึงพอใจในชีวิตสมรสของผู้หญิง กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในงานวิจัยครั้งนี้ คือ ผู้หญิงไทยทั่วไปที่สมรสแล้วจำนวน 566 คน ตัวแปรที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วยตัวแปรแฝง 5 ตัว คือ 1) การสนับสนุนทางอารมณ์ วัดจากตัวแปรสังเกตได้ 3 ตัว คือ การรับรู้ความรักความห่วงใย การรับรู้การให้กำลังใจ การรับรู้ความเข้าใจจากสามี 2) การสื่อสารเรื่องเพศ วัดจากตัวแปรสังเกตได้ 2 ตัว คือ การสื่อสารเรื่องเพศทั่วไป การเปิดเผยตนเรื่องเพศ 3) ความใกล้ชิดผูกพัน วัดจากตัวแปรสังเกตได้ 3 ตัว คือ ความใกล้ชิดผูกพันทางอารมณ์ ความใกล้ชิดผูกพันทางเพศ ความใกล้ชิดผูกพันทางความคิด 4) ความพึงพอใจทางเพศ วัดจากตัวแปรสังเกตได้ 1 ตัว คือ ความพึงพอใจทางเพศ 5) ความพึงพอใจในชีวิตสมรส วัดจากตัวแปรสังเกตได้ 3 ตัว คือ ความพึงพอใจต่อกัน ความมีเยื่อใยต่อกัน การมีความคิดเห็นที่สอดคล้องกัน เครื่องมือที่ใช้วัดประมาณค่ามีความเที่ยงตั้งแต่ .850 -.950 วิเคราะห์ข้อมูลด้วยการวิเคราะห์โมเดลลิสเรล
ผลการวิเคราะห์ความตรงของโมเดลเชิงสาเหตุตามที่ตั้งไว้ตามกรอบวิจัยพบว่า โมเดลมีความสอดคล้องกับข้อมูลเชิงประจักษ์ มีค่า χ 2 = 19.86, df = 19 , p = 0.403, RMSEA = 0.009, RMR = 0.009, GFI = 0.994, AGFI = 0.976 โดยตัวแปรอิสระทั้ง 4 ตัวแปรสามารถอธิบายความพึงพอใจในชีวิตสมรสได้ถึงร้อยละ73.6 โดยมีรูปแบบอิทธิพลดังนี้ คือ 1) การสนับสนุนทางอารมณ์มีอิทธิพลตรงต่อความพึงพอใจในชีวิตสมรสของผู้หญิง 2) การสื่อสารทางเพศมีอิทธิพลต่อความพึงพอใจในชีวิตสมรสผ่านความพึงพอใจทางเพศ 3) การสนับสนุนทางอารมณ์และการสื่อสารทางเพศมีอิทธิพลต่อความพึงพอใจในชีวิตสมรสผ่านความใกล้ชิดผูกพันและความพึงพอใจทางเพศ ผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่า ความพึงพอใจในชีวิตสมรสของผู้หญิงขึ้นอยู่กับการสนับสนุนทางอารมณ์ที่ตนได้รับจากสามีและการสื่อสารทางเพศกับสามี โดยสิ่งเหล่านี้ช่วยให้ผู้หญิงรู้สึกใกล้ชิดผูกพันกับสามี และมีความพึงพอใจทางเพศมากขึ้น ซึ่งส่งผลให้มีความพึงพอใจในชีวิตสมรสมากขึ้นในที่สุด