Abstract:
ศึกษาและทำความเข้าใจประสบการณ์ทางจิตใจของมารดาอุปการะเมื่อส่งเด็กกลับคืนครอบครัว โดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพแนวปรากฏการณ์วิทยา เก็บรวบรวมข้อมูลโดยการสัมภาษณ์เชิงลึกมารดาอุปการะ จำนวน 9 ราย ผลการวิเคราะห์ข้อมูลตามระเบียบวิธีการวิจัยเชิงคุณภาพพบว่า ภาวะที่เกิดขึ้นภายในจิตใจของมารดาอุปการะเมื่อส่งเด็กกลับคืนครอบครัว มีทั้งความรู้สึกเศร้าโศก สูญเสีย เครียดวิตกกังวลกับการจากไปของเด็ก ทำใจไม่ได้ ขณะเดียวกันก็ดีใจ ปลื้มใจที่เด็กมีครอบครัวบุญธรรมมารับไปอุปการะและได้กลับไปอยู่กับครอบครัว ซึ่งความรู้สึกเหล่านี้จะเข้มข้นหรือเบาบาง ขึ้นอยู่กับความยาวนานของระยะเวลาการเลี้ยงดู การได้รับทราบกำหนดการส่งเด็กกลับคืนล่วงหน้า การแสดงท่าทีของเด็กในช่วงเวลาของการแยกจาก การถูกตอกย้ำถามถึงเด็กอยู่เสมอ และความอยู่ดีมีสุขของเด็กเมื่อกลับคืนสู่ครอบครัว ทั้งนี้มารดาอุปการะมีวิธีการจัดการและรับมือกับอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้นโดยการผ่อนคลายตนเอง หลีกเลี่ยงใช้กระบวนการทางความคิดในการยอมรับและปลอบใจตนเอง รับเด็กใหม่มาอุปการะเลี้ยงดูเพื่อทดแทนความรู้สึก และได้รับการสนับสนุนทางด้านความคิด อารมณ์และจิตใจจากบุคคลรอบข้าง นอกจากนี้มารดาอุปการะยังตระหนักถึงบทบาทและการทำหน้าที่ที่มีอยู่ของตนให้ดีที่สุด โดยรับรู้ว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะเหนี่ยวรั้งเด็กไว้ ยอมรับความจริงที่ต้องพลัดพราก ตลอดจนเข้าใจในวงจรชีวิตของการเป็นมารดาอุปการะ ผลการวิจัยครั้งนี้สามารถใช้เป็นแนวทางในการให้บริการการปรึกษาเชิงจิตวิทยา และการวางแผนพัฒนางานครอบครัวอุปการะ เพื่อลดหรือป้องกันเหตุปัจจัยที่จะส่งผลกระทบทางลบต่อมารดาอุปการะ