Abstract:
สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เป็นสถาบันมาตรฐานแห่งชาติของประเทศไทย ตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 สังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม มีวัตถุประสงค์ในการดำเนินงานด้านมาตรฐาน เพื่อให้เกิดการพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมภายในประเทศ สร้างความเป็นธรรมในการซื้อขาย ก่อให้เกิดความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ขจัดปัญหาและอุปสรรคทางการค้าต่าง ๆ จากการศึกษาการดำเนินงานของ สมอ.พบว่ายังมีปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ ที่สำนักงานฯ ประสบอยู่ ดังนี้ คือ 1. ปัญหาด้านการกำหนดมาตรฐาน ได้แก่ ความล่าช้าในการกำหนดมาตรฐาน เนื่องจากความล่าช้าของผลตรวจสอบ การขาดแหล่งรวบรวมข้อมูล เอกสารอ้างอิงและคุณสมบัติเกี่ยวกับตัวผลิตภัณฑ์ ขาดกำลังคนที่มีความรู้ความชำนาญในสาขาวิชาเฉพาะและขาดเครื่องมือตรวจสอบ 2.ปัญหาด้านการรับรองคุณภาพ ได้แก่ ความไม่คล่องตัวในการดำเนินการอนุญาตและ การตรวจสอบควบคุมการใช้เครื่องหมายมาตรฐาน เนื่องจากความล่าช้าของการตรวจสอบตัวอย่างขาดเครื่องมือตรวจสอบ ขาดความร่วมมือที่ดีระหว่างหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องและข้อจำกัดทางกฎหมาย 3.ปัญหาด้านการมาตรฐานระหว่างประเทศ ได้แก่ ความไม่พร้อมของข้อมูลทางวิชาการเนื่องจากขาดกำลังคนในการหาและรวบรวมข้อมูลทั้งด้านเศรษฐกิจและวิชาการ และขาดความร่วมมือในการติดต่อประสานงานกับหน่วยงานภายนอกที่เกี่ยวข้อง 4.ปัญหาด้านการส่งเสริมมาตรฐาน ได้แก่ การนำมาตรฐานไปใช้ยังไม่แพร่หลายเนื่องจากขาดความร่วมมือในการประสานงาน ขาดงบประมาณ และขาดกำลังคน 5.ปัญหาเกี่ยวกับกระบวนการบริหาร ได้แก่ ปัญหาในการวางแผนระยะยาว การจัดองค์การที่อยู่เป็นข้อจำกัดทำให้การดำเนินงานไม่คล่องตัว ผู้บังคับบัญชาบางคนยังขาดศิลปะในการสั่งการ ขาดการประสานงานที่ดี และขาดการประเมินผลการใช้งบประมาณอย่างต่อเนื่อง จากการวิเคราะห์ข้อปัญหาพบว่าส่วนหนึ่งของปัญหาเกิดจากการขาดเครื่องมือตรวจสอบและขาดกำลังคน ซึ่งเป็นไปตามสมมติฐานเบื้องต้นที่ตั้งไว้ ปัญหาดังกล่าวข้างต้นควรได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังและต่อเนื่อง จึงสรุปแนวทางในการแก้ไขปัญหาไว้ดังนี้ 1.ปรับปรุงงานการกำหนดมาตรฐานให้มีความคล่องตัว ตามลักษณะงานซึ่งแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ มาตรฐานเกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์วิทยาศาสตร์ และสาขาวิศวกรรมศาสตร์ 2.ให้มีเจ้าหน้าที่รับผิดชอบในการจัดหา และรวบรวมข้อมูลที่จำเป็นต้องใช้งานด้านมาตรฐาน ตลอดจนเอกสารอ้างอิงต่าง ๆ ให้พร้อมก่อนที่จะมีการกำหนดมาตรฐานเรื่องนั้น ๆ 3.ปรับปรุงงานวิจัยและตรวจสอบเพื่อพัฒนามาตรฐานให้มีบทบาทที่สำคัญแบะอำนาจในการปฏิบัติงานมากขึ้น 4.แยกฝ่ายตรวจการให้เป็นอิสระจากกองควบคุมมาตรฐาน และปรับปรุงให้มีกำลังมากขึ้นเพื่อความคล่องตัวในการดำเนินงาน 5.ส่งเสริมโรงงานผู้ผลิตให้มีความรับผิดชอบในการควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์มากขึ้น 6.เพิ่มโทษผู้กระทำผิดกฎหมาย ทั้งโทษปรับและโทษจำ 7.ปรับปรุงการประชาสัมพันธ์ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น 8.ในการติดต่อประสานงานกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ควรนำหลังวิชาทางด้านการติดต่อสื่อสารมาใช้มากขึ้น 9.จัดให้มีการพัฒนาบุคลากรของสำนักงานให้มีความรู้ ทั้งในด้านบริหารและด้านวิชาการอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน หากปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ ดังกล่าว ได้รับความสนใจที่จะดำเนินการแก้ไขอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ย่อมสามารถทำให้การดำเนินงานของสำนักงานฯ บรรลุเป้าหมายดียิ่งขึ้นทั้งยังเป็นการสนับสนุนและผลักดันให้นโยบายการส่งเสริมการใช้สิ้นค้าไทยและการส่งออกของรัฐบาลบรรลุผลเร็วยิ่งขึ้น