Abstract:
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลกระทบของนโยบายการเงินต่อภาคอุตสาหกรรมต่างๆรวม 53 อุตสาหกรรม ผ่านช่องทางอัตราดอกเบี้ยและช่องทางอัตราแลกเปลี่ยน และศึกษาสาเหตุที่ทำให้ผลของนโยบายการเงินแต่ละอุตสาหกรรมแตกต่างกัน โดยใช้วิธี Vector Autoregressive (VAR) และ Panel regression analysis ข้อมูลที่ใช้ในการศึกษาเป็นข้อมูลรายเดือนตั้งแต่เดือนมิถุนายน ปี 2543 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2551 ซึ่งเป็นช่วงหลังธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดนโยบายการเงินภายใต้กรอบเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อ (Inflation targeting) ผลการศึกษาพบว่านโยบายการเงินกระทบผลผลิตในแต่ละอุตสาหกรรมแตกต่างกัน ทั้งกรณีของขนาดผลกระทบและช่วงเวลาที่นโยบายมีผล ซึ่งสาเหตุของความแตกต่างมาจากขนาดและการพึ่งพาเงินลงทุนจากต่างประเทศของแต่ละอุตสาหกรรมเป็นสาระสำคัญ โดยอุตสาหกรรมขนาดเล็กมีผลกระทบมากและยาวนานกว่าอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ และอุตสาหกรรมที่เน้นการใช้เงินลงทุนจากภายในประเทศ (Non-FDI) มีผลกระทบมากและยาวนานกว่าอุตสาหกรรมที่มีการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ(FDI) นอกจากนั้นยังพบว่ากลไกการส่งผ่านนโยบายการเงินในช่องทางอัตราดอกเบี้ยมีบทบาทมากกว่าช่องทางอัตราแลกเปลี่ยน งานวิจัยนี้มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่สำคัญ คือ ธนาคารแห่งประเทศไทยควรดำเนินนโยบายการเงินอย่างระมัดระวัง และนำผลกระทบของนโยบายต่ออุตสาหกรรมต่างๆไปประกอบการตัดสินใจมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีการดำเนินนโยบายแบบเข้มงวด การพิจารณาขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายควรคำนึงถึงความเสี่ยงเชิงนโยบายที่อัตราดอกเบี้ยสูงนำไปสู่การหดตัวของผลผลิตในบางอุตสาหกรรมที่มีความเปราะบางมาก เช่น อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องจักร อุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ อุตสาหกรรมกระดาษ และอุตสาหกรรมสิ่งทอ เป็นต้น ซึ่งอุตสาหกรรมเหล่านี้มีสัดส่วนการจ้างงานและสัดส่วนมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศค่อนข้างสูง