Abstract:
งานศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ที่จะศึกษาผลของการลงทุนทางตรงระหว่างประเทศ, การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ระหว่างประเทศ และการลงทุนระหว่างประเทศที่ไม่สามารถจำแนกประเภทได้ ที่มีต่อประสิทธิภาพในการผลิตของประเทศผู้รับทุน รวมถึงปัจจัยที่คาดว่าจะมีผลต่อความไม่มีประสิทธิภาพ โดยใช้สมการการผลิตแบบ Translog Production Function และวิธีวัดประสิทธิภาพแบบ Stochastic Frontier ผลที่ได้จากการศึกษาพบว่าการเพิ่มปัจจัยทุนทางกายภาพ จะเพิ่มผลผลิตให้กับประเทศในกลุ่มตัวอย่างได้มากที่สุด รองมาคือปัจจัยทุนมนุษย์ และปัจจัยการสะสมการวิจัยและพัฒนา ในทางตรงกันข้ามการเพิ่มปัจจัยแรงงาน ทำให้ผลผลิตลดลง ปัจจัยที่กำหนดความมีประสิทธิภาพการผลิตของประเทศในกลุ่มตัวอย่างแบ่งเป็น 2 ลักษณะ คือ 1.)ปัจจัยที่เพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตได้แก่ การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์จากต่างประเทศ, การลงทุนที่ไม่สามารถจำแนกประเภทได้จากต่างประเทศ, ทุนมนุษย์ และระดับการพัฒนาประเทศ และ
2.) ปัจจัยที่ลดประสิทธิภาพในการผลิต ได้แก่ อัตราการเปิดประเทศ, ขนาดของตลาดเงิน, การสะสมการวิจัยและพัฒนา, ปฏิกิริยาระหว่างกันของการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์จากต่างประเทศกับขนาดของตลาดเงิน และระยะเวลาที่ทำการศึกษา (แทนความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี) ค่าเฉลี่ยประสิทธิภาพทางเทคนิคของประเทศในกลุ่มตัวอย่างตลอดช่วงเวลาที่ทำการศึกษามีค่าเฉลี่ยประสิทธิภาพอยู่ที่ร้อยละ 90.47 โดยประเทศในกลุ่มตัวอย่างที่มีค่าเฉลี่ยประสิทธิภาพสูงสุดคือ ประเทศสิงคโปร์ (ร้อยละ 96.54) ในขณะที่ประเทศจีน (ร้อยละ 87.97) มีระดับประสิทธิภาพทางเทคนิคลำดับสุดท้าย ประเทศไทยมีค่าประสิทธิภาพอยู่ที่ร้อยละ 94.09