Abstract:
ศึกษาว่าการขับเคลื่อนของสภาพัฒนาการเมืองในการเสริมสร้างการเมืองภาคพลเมืองนั้น เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาตรา 78 (7) ที่ได้กำหนดให้รัฐต้องจัดให้มีแผนพัฒนาการเมือง รวมทั้งจัดให้มีสภาพัฒนาการเมืองที่มีความเป็นอิสระ เพื่อติดตามสอดส่องให้มีการปฏิบัติตามแผนดังกล่าวอย่างเคร่งครัดหรือไม่ อย่างไร และประการที่สอง ศึกษาปฏิสัมพันธ์เชิงอำนาจที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการกำหนด ทิศทางการทำงานของสภาพัฒนาการเมืองและกองทุนพัฒนาการเมือง ใน 2 ปี ตั้งแต่ 30 มกราคม 2551 ถึง 30 มกราคม 2553 โดยใช้วิธีศึกษาวิจัยแบบคุณภาพโดยการรวบรวมเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้องและใช้สัมภาษณ์ผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้ปฏิบัติงาน ผลของการศึกษาสรุปตามวัตถุประสงค์ของการศึกษา มีดังต่อไปนี้ วัตถุประสงค์แรก ผู้วิจัยได้ใช้การทบทวนและวิเคราะห์กฎหมายฉบับนี้ จึงได้พบว่าโครงสร้างของสภาพัฒนาการเมือง มีช่องโหว่ให้นักการเมืองหรือองค์กรต่างๆ สามารถเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์และควบคุมการทำงานได้ และโครงสร้างไม่สามารถสร้างพื้นที่การเมืองแก่ภาคประชาชน ในลักษณะขบวนการเคลื่อนไหวได้ ส่งผลให้สภาพัฒนาการเมืองไม่สามารถทำงานเพื่อตอบสนองตามวัตถุประสงค์ในข้อนี้ได้ วัตถุประสงค์ที่สอง เมื่อมีการทบทวนโครงสร้างขององค์กรตามวัตถุประสงค์ที่หนึ่งแล้ว พบว่า กลุ่มองค์กรที่เข้ามามีอิทธิพลต่อการกำหนดทิศทางการทำงานของสภาและกองทุนพัฒนาการเมืองหลักๆ คือ สถาบันพระปกเกล้า ได้เข้ามามีอำนาจจัดการการบริหาร การทำงานในทุกๆ ส่วนนับตั้งแต่สภาฯ สำนักงาน และกองทุนฯ และจากการสัมภาษณ์ผู้ทรงคุณวุฒิ สมาชิกและผู้ปฏิบัติงาน พบว่า รูปแบบนี้ส่งผลให้การทำงานยังคงติดอยู่กับรูปแบบของราชการ ไม่มีความคล่องตัว อีกองค์การหนึ่งที่เข้ามามีอิทธิพล คือ สภาองค์กรชุมชน เนื่องจากสมาชิกครึ่งหนึ่งของสภา (76 คน) นั้น เป็นตัวแทนของแต่ละจังหวัดที่มาจากสมาชิกของสภาองค์กรชุมชน ดังนั้น ความสามารถในการโหวตของสมาชิกที่มาจากสภาองค์กรชุมชน จึงสามารถล๊อบบี้การลงมติต่างๆ ในที่ประชุมได้ ผู้วิจัยจึงเสนอว่า ควรมีการทบทวนกฎหมายฉบับนี้ใหม่เพื่อให้มีโครงสร้างที่มีความเป็นอิสระ แทรกแซงได้ยาก มีความยืดหยุ่น เอื้อต่อการทำงานในพื้นที่และเครือข่าย