Abstract:
ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างชาวมุสลิมและรัฐโดยเน้นไปที่การศึกษากรณีจากประเทศอินโดนีเซียเป็นตัวอย่าง ที่สะท้อนให้เห็นถึงแง่มุมความหลากหลายของการเมืองของกลุ่มอิสลามการเมือง กรอบความคิดที่ใช้ศึกษาคือ ขอบข่ายและความหมายของอิสลามการเมือง และกรอบการวิเคราะห์การก่อตัวของอิสลามการเมืองเชิงประวัติศาสตร์ กรอบความคิดทั้งสองช่วยให้เราสามารถเข้าใจความหลากหลายของเหตุการณ์ ตัวกระทำ และกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับชาวมุสลิมและศาสนาอิสลาม เหตุการณ์ 9/11 ส่งผลต่อความเข้าใจผิดต่อกลุ่มการเมืองอิสลาม ที่ถูกมองว่าเป็นพวกสุดโต่ง เน้นการใช้ความรุนแรงเหมือนกันทุกกลุ่ม แต่วิจัยนี้เสนอว่า การจะเข้าใจกลุ่มอิสลามการเมือง หรือการเมืองของกลุ่มอิสลาม จะต้องศึกษาบริบทของการก่อกำเนิดและการต่อสู้ทางการเมืองของกลุ่มอิสลามการเมือง ตลอดจนศึกษาผ่านชาวมุสลิมในฐานะตัวแสดงทางสังคมมากกว่าศึกษาตัวศาสนาอิสลาม ในกรณีของอินโดนีเซีย งานวิจัยนี้พบว่า กลุ่มอิสลามการเมืองมีบทบาทสำคัญในการขยายพื้นที่ทางการเมืองและเพิ่มอำนาจต่อรองทางการเมืองให้กับชาวมุสลิม อีกทั้งยังมีบทบาทผลักดันวาระและนโยบายที่วางอยู่บนหลักการของศาสนา พร้อมไปกับการรณรงค์ให้เกิดการกระจายอำนาจในท้องถิ่น พวกเขาจึงบทบาทในการส่งเสริมประชาธิปไตยในอินโดนีเซียในยุคหลังซูฮาร์โต นอกจากนี้ กลุ่มอิสลามการเมืองส่วนใหญ่ในอินโดนีเซียยังท้าทายแนวทางของพวกมุสลิมที่นิยมแนวทางกลับไปสู่ฐานรากด้วย