Abstract:
ค่าใช้จ่ายทางทหารเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการเตรียมความพร้อมของกองทัพไทย ในการรักษาความมั่นคงของประเทศ ซึ่งเป็นพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม โดย ภายหลังสิ้นสุดสงครามเย็นนักเศรษฐศาสตร์ได้ให้ความสนใจศึกษาเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างค่าใช้จ่ายทางทหารกับการเติบโตทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามผลการศึกษาที่เกิดขึ้นยัง คงไม่สามารถสรุปได้อย่างชัดเจน ประกอบกับการศึกษากรณีของประเทศไทยยังมีไม่มากนัก การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างค่าใช้จ่ายทางทหารกับการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทย ทั้งความสัมพันธ์เชิงเหตุและผล และผลกระทบของค่าใช้จ่ายทางทหารที่มีต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะสั้นและในระยะยาวโดยใช้กรอบแนวคิดทางทฤษฎีของเคนส์ และวิธีการทางเศรษฐมิติในรูปแบบ Vector Autoregressive Approach (VAR) ได้แก่ Granger Causality, Cointegration, Vector Error Correction Model (VECM) และImpulse response ข้อมูลที่ใช้ในการศึกษาเป็นข้อมูลทุติยภูมิรายปีในช่วงปี พ.ศ. 2522-2552 และตัวแปรที่ใช้ได้แก่การเติบโตทางเศรษฐกิจ ค่าใช้จ่ายทางทหาร ค่าใช้จ่ายภาครัฐส่วนอื่น และอัตราดอกเบี้ย ของประเทศไทย ผลการศึกษาพบว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจไม่มีความสัมพันธ์เชิงเหตุผลกับค่าใช้จ่ายทางทหาร นั่นคือการเติบโตทางเศรษฐกิจไม่ได้เป็นตัวกำหนดค่าใช้จ่ายทางทหาร ดังนั้นประเทศไทยจึง ควรปรับเปลี่ยนวิธีการกำหนดกรอบวงเงินงบประมาณด้านการป้องกันประเทศ โดยคิดเป็นสัดส่วนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศสำหรับผลกระทบในระยะสั้นแม้ว่าการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายทางทหารจะส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตามรัฐบาลควรรักษาระดับการจัดสรรงบประมาณด้านการป้องกันประเทศในวงเงินที่เหมาะสม พร้อมๆ กับการจัดสรรงบประมาณด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในส่วนความสัมพันธ์เชิงดุลยภาพในระยะยาว พบว่าค่าใช้จ่ายภาครัฐ ส่วนอื่นส่งผลกระทบทางบวกต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ และมีขนาดมากกว่าผลกระทบทางบวกของค่าใช้จ่ายทางทหารที่มีต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจประมาณ 4.3 เท่า ดังนั้นหากการปรับเพิ่มงบประมาณทางทหารเป็นไปตามความจำเป็นเพื่อสร้างความมั่นคงปลอดภัยให้กับประเทศและประชาชนแล้ว ย่อมมีความคุ้มค่ามากกว่าการเลื่อนการดำเนินการออกไปแล้วเกิดความเพลี่ยงพล้ำต่อความมั่นคงของประเทศ จนนำมาซึ่งความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน และระบบเศรษฐกิจของประเทศ