Abstract:
จากการพิจารณาแนวคิดทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์มหภาคพบว่า มีสมมติฐานแนวคิด Ricardian Equivalence ที่ว่าด้วยความไม่มีประสิทธิภาพของนโยบายการคลัง การดำเนินนโยบายการคลังแบบขาดดุลไม่ว่าจะด้วยมาตรการลดภาษีหรือเพิ่มรายจ่ายภาครัฐจะไม่ส่งผลกระทบให้ระดับการบริโภคมวลรวมของครัวเรือนเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้บริโภคเป็นผู้มีเหตุผลตลอดจนมีลักษณะการวางแผนการดำเนินชีวิตแบบไม่มีที่สิ้นสุด ประกอบกับมีผลการทดสอบเชิงประจักษ์ที่พบว่า ประสิทธิภาพของการใช้นโยบายการคลังในการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยเฉพาะการกระตุ้นระดับการบริโภคของผู้บริโภคนั้นลดลง ดังนั้นเพื่อเชื่อมโยงระหว่างแนวคิดทฤษฎีกับผลการทดสอบเชิงประจักษ์ของประเทศไทย การศึกษาครั้งนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อทดสอบประสิทธิภาพของนโยบายการคลังภายใต้สมมติฐานแนวคิดทฤษฎี Ricardian Equivalence ของประเทศไทย แบบจำลองที่ใช้ในการศึกษาสามารถใช้ทดสอบสมมติฐานหลักของแนวคิดทฤษฎี Ricardian Equivalence และเอื้ออำนวยต่อการหาสาเหตุในกรณีที่พฤติกรรมการบริโภคของครัวเรือนไทยไม่สอดคล้องตามแนวคิดทฤษฎี โดยกำหนดแบบจำลองให้อยู่บนพื้นฐานสภาพความเป็นจริงของระบบเศรษฐกิจแต่ยังคงอยู่ภายใต้กรอบแนวคิดทฤษฎี Ricardian Equivalence รวมทั้งได้มีการแก้ไขข้อบกพร่องที่เกิดจากงานเขียนในอดีต ข้อมูลที่ใช้ในการศึกษาจะเป็นข้อมูลทางเศรษฐกิจรายปีตั้งแต่ปี พ.ศ. 2518-2549 ซึ่งได้แก่ รายจ่ายเพื่อการบริโภคและเพื่อการลงทุนของภาครัฐ รายจ่ายเพื่อการบริโภคของครัวเรือนไทยและรายได้ส่วนบุคคลสุทธิเป็นต้น ผลการศึกษาพบว่า ไม่ว่าจะใช้รายจ่ายมวลรวมของภาครัฐ รวมจ่ายเพื่อการบริโภคของภาครัฐ และรายจ่ายเพื่อการลงทุนของภาครัฐ มาทดสอบต่างให้ผลการศึกษาที่ตรงกันคือ พฤติกรรมการบริโภคของครัวเรือนไทยไม่สอดคล้องตามแนวคิดทฤษฎี Ricardian Equivalence ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าการใช้นโยบายการคลังของรัฐบาลไทยมีประสิทธิภาพมากพอที่จะจัดการด้านอุปสงค์มวลรวมโดยเฉพาะด้านรายจ่ายเพื่อการบริโภคของครัวเรือนไทย โดยผู้บริโภคไทยมีลักษณะการวางแผนการดำเนินชีวิตแบบไม่มีที่สิ้นสุด ส่วนสาเหตุที่พฤติกรรมการบริโภคของครัวเรือนไทยเบี่ยงเบนออกจากแนวคิดทฤษฎี Ricardian Equivalence เกิดจากการที่ผู้บริโภคไทยมีข้อจำกัดทางสภาพคล่อง