Abstract:
สัดส่วนร่างกาย กำลัง และความแข็งแรงของประชากรที่แตกต่างกันย่อมแตกต่างกัน และการที่จะออกแบบให้เครื่องจักรอุปกรณ์มีความเหมาะสมกับผู้ใช้งานนั้นต้องให้ความสำคัญต่อข้อมูลต่างๆ เหล่านี้ ทั้งนี้ เพื่อที่จะได้ใช้เป็นหลักเกณฑ์ในการออกแบบกำหนดขนาด และปรับระยะต่างๆ ของเครื่องจักรอุปกรณ์ แต่ในความเป็นจริงนั้น การให้ความสำคัญต่อการพิจารณาลักษณะสมบัติของผู้ใช้เครื่องจักรอุปกรณ์นั้นมีน้อยมาก ที่เป็นเช่นนี้อาจเป็นเพราะผู้ออกแบบไม่ทราบถึงความสำคัญ ไม่ให้ความสนใจ หรือที่เป็นได้มากที่สุดสำหรับประเทศที่กำลังพัฒนา รวมทั้งประเทศไทยด้วย ก็คือการขาดข้อมูลทางเออร์โกโนมิก การวิจัยในครั้งนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) พัฒนาและทดสอบเครื่องวัดความแข็งแรง และกำลังของบุคคล โดยใช้ Load Cell และ Digital Display เป็นเครื่องมือหลัก 2) สร้างฐานข้อมูลลักษณะมนุษย์ในเรื่องเกี่ยวกับ สัดส่วนร่างกาย กำลังสถิตของกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ สำหรับกลุ่มนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เข้าทดสอบทั้งหมดเป็นชายล้วนจำนวน 100 คน อายุระหว่าง 17-25 ปี ทำการทดสอบในห้องปฏิบัติการวิจัยเออร์โกโนมิก ของภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เข้าทดสอบทั้งหมด เป็นนิสิตของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีสุขภาพดี ร่างกายแข็งแรง ผลการทดสอบได้ถูกวิเคราะห์ในเชิงสถิติโดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูป SAS เพื่อวิเคราะห์หา สหสัมพันธ์ระหว่างสัดส่วนร่างกายแต่ละส่วน สหสัมพันธ์ระหว่างกำลังสถิตของกล้ามเนื้อแต่ละส่วน รวมทั้งค่าเฉลี่ยของข้อมูลแต่ละอย่างด้วย ผลจากการวิจัย ทำให้สามารถพัฒนา และสร้างเครื่องวัดความแข็งแรง และกำลังของบุคคลขึ้นมาได้ สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเสียค่าใช้จ่ายในการสร้างต่ำ นอกจากนั้นยังสามารถสร้างฐานข้อมูลลักษณะมนุษย์ ในเรื่องเกี่ยวกับสัดส่วนร่างกาย กำลังสถิตของกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ของกลุ่มนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอีกด้วย