Abstract:
การยศาสตร์เป็นการศึกษาอันตรกิริยาระหว่างผู้ปฏิบัติงานและเครื่องจักรอุปกรณ์ที่ใช้อยู่ในสภาพแวดล้อมใดๆ การศึกษาจะมุ่งเน้นไปที่ตัวคนเป็นหลัก เครื่องจักรอุปกรณ์ที่ใช้จะมีความสำคัญก็ต่อเมื่อมีคนใช้ทำงาน ใช้บริการ ซ่อมแซมบำรุงรักษา สภาพแวดล้อมก็เช่นกัน จะมีความหมายมากขึ้นก็ต่อเมื่อมีบุคคลทำงานอยู่ในนั้น การประยุกต์ใช้ความรู้เหล่านี้ในสถานประกอบการนับว่าจำเป็นมากเพื่อการเพิ่มผลผลิตและเพิ่มความรับผิดชอบต่อสังคมให้กับหน่วยงานนั้น ประโยชน์ที่ชัดเจนนี้ได้กระตุ้นให้หน่วยอุตสาหกรรมภาคเอกชนหลายแห่งให้ความสนใจ บริษัท จอห์นสันแอนด์จอห์นสันประเทศไทย จำกัด ได้ขอให้หน่วยปฏิบัติการวิจัยการยศาสตร์เข้าไปทำการศึกษาโดยใช้ความรู้ทางการยศาสตร์ที่โรงงานของบริษัทในนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง การศึกษาครั้งนี้ได้ใช้วิธีการยศาสตร์โดยรวม การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) หาภาระของกล้ามเนื้อของคนงานที่ทำงานโดยใช้แรงงานและทำงานซ้ำซาก 2) เปรียบเทียบผลการวัดการตอบสนองจากการวัดคลื่นไฟฟ้าของกล้ามเนื้อและการบันทึกการเต้นของหัวใจในการทำงานประเภทต่างๆ กัน 3) ศึกษาผลกระทบของปัจจัยการทำงานต่อกล้ามเนื้อ 4) เสนอแนะปรับปรุงแก้ไขปัญหา การวิจัยครั้งนี้ได้ทำการวัดหาค่ามิติของสถานที่ทำงาน วัดสัดส่วนร่างกายของพนักงาน จากนั้นได้ทำการสัมภาษณ์โดยใช้แบบสัมภาษณ์พนักงานสำหรับหาค่าดัชนีความผิดปกติ เพื่อเลือกผู้ถูกทดสอบซึ่งได้ทั้งหมด 9 คน จากงานที่ทำซ้ำซาก 5 คน (แผนกบรรจุผ้าอนามัย) งานที่ใช้แรงมาก 4 คน (งานยกถุงแห้ง 2 คน และงานเข็นรถบรรทุกแป้งเข้าออกจากเตาอบ 2 คน) ทำการวัดค่าคลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อ (EMG) ที่กล้ามเนื้อ deltoid และ trapezius วัดค่าอัตราการเต้นของหัวใจ บันทึกลักษณะการทำงานในขณะทำงานทุกคน และวัดแรงที่ใช้ในการเข็นรถบรรทุกแป้งเข้าออกจากเตาอบ การศึกษาภาระงานของกล้ามเนื้อในงานที่ต้องใช้แรงมากพบว่าค่า EMG ที่กล้ามเนื้อ deltoid และ trapezius เฉลี่ยในการทำงานมีค่าเฉลี่ยสูงกว่า 35% ของค่าเฉลี่ยสูงสุด(MVE) ซึ่งนับว่าเป็นอันตราย ซึ่งได้เสนอแนะวิธีปรับปรุงโดยการติดแผ่นกันลื่นที่พื้นในงานเข็นรถบรรทุกแป้งและใช้เครื่องช่วยยกในงานยกถุงแป้ง พบว่าสามารถลดค่า EMG ได้ สำหรับงานบรรจุผ้าอนามัย (งานซ้ำซาก) นั้นพบว่าค่า EMG ที่ได้ต่ำกว่างานที่ต้องใช้แรงงานมาก อย่างไรก็ดี เมื่อเปรียบเทียบค่า EMG ของงานบรรจุผ้าอนามัยในต้นสัปดาห์ และในปลายสัปดาห์ พบว่า งานบรรจุผ้าอนามัยได้ก่อให้เกิดความล้าสะสม จึงได้เสนอวิธีการแก้ไขโดยการหมุนเวียนงาน สำหรับการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่าง EMG และอัตราการเต้นของหัวใจพบว่าไม่มีความสัมพันธ์กัน จากการศึกษาครั้งนี้จึงได้สรุปว่า ปัจจัยของการทำงานต่อกล้ามเนื้อคือ 1) ลักษณะของงาน 2) รอบการทำงาน (ต้นสัปดาห์-ปลายสัปดาห์) และ 3) ลักษณะสภาพแวดล้อมของการทำงาน