Abstract:
งานวิจัยนี้ มุ่งเน้นเชื่อมโยงประเด็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างครัวเรือนกับรูปแบบการบริโภคของครัวเรือนไทย ได้แก่ ระดับการบริโภค โครงสร้างค่าใช้จ่ายเพื่อการบริโภค และความแตกต่างด้านการบริโภคของครัวเรือน โดยใช้การบริโภคต่อหัวผู้ใหญ่สมมูลย์จากข้อมูลการสำรวจภาวะสังคมและเศรษฐกิจครัวเรือน ปี 2533 เปรียบเทียบกับปี 2552 ผลการศึกษา พบว่า 1) ครัวเรือนไทยมีขนาดลดลงและมีโครงสร้างองค์ประกอบด้านอายุของสมาชิกครัวเรือนเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม โดยครัวเรือนพ่อแม่และบุตร และครัวเรือนสามรุ่นยังคงเป็นรูปแบบการอยู่อาศัยหลัก แต่มีจำนวนครัวเรือนที่มีผู้สูงอายุเป็นสมาชิกครัวเรือนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะครัวเรือนเฉพาะผู้สูงอายุและครัวเรือนข้ามรุ่น 2) ระดับการบริโภคเฉลี่ยของครัวเรือนไทยลดลงเล็กน้อย โดยครัวเรือนส่วนใหญ่มีระดับการบริโภคใกล้เคียงกับระดับการบริโภคเฉลี่ยและเพิ่มขึ้นระหว่างช่วงเวลา ยกเว้นครัวเรือนผู้สูงอายุที่มีระดับการบริโภคต่ำกว่าของระดับการบริโภคเฉลี่ยและลดลงระหว่างช่วงเวลา ตรงข้ามกับครัวเรือนเฉพาะวัยแรงงาน 3) โครงสร้างค่าใช้จ่ายเพื่อการบริโภคของครัวเรือนไทยเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเล็กน้อย โดยครัวเรือนส่วนใหญ่มีโครงสร้างค่าใช้จ่ายเพื่อการบริโภคและการเปลี่ยนแปลงไม่ต่างจากครัวเรือนไทย ยกเว้นครัวเรือนผู้สูงอายุที่มีสัดส่วนค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับที่อยู่อาศัย และสุขภาพสูงกว่าครัวเรือนที่อื่น แต่มีสัดส่วนชองค่าใช้จ่ายในการเดินทาง อาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ ค่าใช้จ่ายส่วนบุคคล เสื้อผ้าและเครื่องแต่งกาย และการดำเนินการในครัวเรือนต่ำกว่าครัวเรือนอื่น และ 4) ความแตกต่างด้านการบริโภคของครัวเรือนโดยรวมลดลงเล็กน้อย โดยมีที่มาจากการความแตกต่างของโครงสร้างองค์ประกอบด้านอายุของสมาชิกครัวเรือนและมีความสำคัญเพิ่มขึ้นระหว่างเวลา สำหรับครัวเรือนไม่มีวัยแรงงานเป็นสมาชิกครัวเรือนมีที่มาของความแตกต่างด้านการบริโภคจากอาหารเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ การเดินทาง และสุขภาพ ส่วนกลุ่มครัวเรือนที่ไม่มีวัยพึ่งพิงเป็นสมาชิกครัวเรือนมีที่มาของความแตกต่างด้านการบริโภคจากอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ ที่อยู่อาศัย และการเดินทาง ตามลำดับ