Abstract:
“การแหนแห่” เป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชาวล้านนามาตั้งแต่โบราณกาล ซึ่งมักจะให้ความสำคัญต่อการแหนแห่ต่างๆ ในฐานะองค์ประกอบของหลักพิธีกรรมที่มีความสำคัญทั้งในระดับครอบครัว ระดับท้องถิ่น ชุมชน ตลอดไปจนถึงระดับอาณาจักร การแหนแห่ยังเป็นส่วนหนึ่งในวัฒนธรรมประเพณีของคนล้านนาที่มีความสำคัญ โดยในปัจจุบันได้มีการรื้อฟื้นขบนบธรรมเนียมการแห่แหนขึ้น เพื่อให้ความรู้ทางการศึกษา ความเป็นมาในอดีต ความงดงามในวิถีชีวิต และพิธีกรรมแห่งชีวิตที่เคยปรากฏให้เป็นภาพแห่งความจริงที่ยังคงจับต้องได้ การศึกษาวิจัยครั้งนี้มุ่งเน้นการศึกษาพฤติกรรมการยอมรับและมีส่วนร่วม ในการแหนแห่ทางวัฒนธรรมในเขต อ.เมืองเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ เพื่อที่จะได้ทราบถึงทัศนคติ การยอมรับและพฤติกรรมการมีส่วนร่วมของสังคมต่อการจัดขบวนแหนแห่ และเพื่อทราบถึงปัญหาและอุปสรรค์ที่ส่งผลสำคัญต่อการจัดการขบวนแหนแห่ อันจะนำมาสู่การสร้างแนวทางที่เหมาะสม ในการมีส่วนร่วมของคนในสังคมโลกปัจจุบัน ผลการสำรวจแสดงให้เห็นว่า รูปแบบขบวนแหนแห่ในปัจจุบันมุ่งเน้นด้าน “การสร้างภาพลักษณ์ทางการส่งเสริมการท่องเที่ยว” การยอมรับต่อขบวนแหนแห่ของชาวเชียงใหม่อยู่ในระดับปานกลาง แสดงออกผ่านด้านความคิด ด้านความรู้สึก และพฤติกรรม โดยชาวเชียงใหม่ 87% เคยมีส่วนร่วมในขบวนแหนแห่ของเมืองที่จัดขึ้น ปรากฏลักษณะของการมีส่วนร่วมแบบโดยตรง การมีส่วนร่วมแบบชักนำ และการมีส่วนร่วมแบบบังคับ เป็นการเข้าร่วมการแหนแห่เกี่ยวกับเทศกาลประเพณีที่เน้นด้านการท่องเที่ยวมากกว่าขบวนแหนแห่ที่เกี่ยวกับประเพณีแห่งชีวิตและพิธีกรรม นอกจากนี้ชาวเชียงใหม่ยังสะท้อนปัญหาในเรื่องของสถานที่จอดรถไม่เพียงพอ, ปัญหาการเข้าถึงการบริการสาธารณูปโภค และจุดรับชมขบวนที่ไม่มีระเบียบมากที่สุด ล้วนเป็นปัญหาที่มีความสำคัญโดยผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการบริหารจัดการควรแก้ไขอย่างเร่งด่วน