Abstract:
งานวิจัยนี้ได้ศึกษาการอบแห้งชิ้นมันสำปะหลัง (ขนาด 3 มม. X 5 มม. X 5 มม.) ทั้งชั้นบาง (5 ซม.) และชั้นหนา (40 ซม.) ในเครื่องอบแห้งแบบไหลผ่านเพื่อดูอิทธิพลที่ความเร็วลมและอุณหภูมิลมร้อนมีต่อเส้นลักษณะเฉพาะของการอบแห้งและพัฒนา แบบจำลองทางคณิตศาสตร์ เพื่อใช้ในการคำนวณการกระจายความชื้นของชั้นวัสดุและเวลาที่ต้องใช้ในการอบแห้ง จากการทดลองอบแห้งชั้นมันสำปะหลัง 3 กรณีคือ กรณีอบแห้งแบบปกติ (ไม่มีการผสมวัสดุหรือสลับทิศทางลมร้อนเป็นครั้งคราว) กรณีผสมวัสดุเป็นครั้งคราวและกรณีสลับทิศทางลมร้อนเป็นครั้งคราวได้พบว่าแบบจำลองทางคณิตศาสตร์สามารถทำนายเวลาที่ต้องใช้ในการอบแห้งได้ใกล้เคียงกัน ผลการทดลองโดยมีความคลาดเคลื่อนสูงสุดไม่เกิน 5.3%, 3.2% และ 7.7% สำหรับการอบแห้งแบบปกติ แบบผสมวัสดุเป็นครั้งคราว (ทุกๆ 150 นาที) และแบบสลับทิศทางลมร้อนเป็นครั้งคราว (ทุกๆ 30 นาที) ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบเวลาที่ต้องใช้ในการอบแห้งพบว่า การอบแห้งโดยผสมวัสดุเป็นครั้งคราวจะใช้เวลาในการอบแห้งน้อยกว่าหรือเท่ากับการอบแห้งแบบปกติเสมอ (น้อยกว่าถึง 14.8%) ส่วนการอบแห้งโดยสลับทิศทางลมร้อนเป็นครั้งคราวแทบไม่มีผลต่อการประหยัดเวลาในการอบแห้งและในบางเงื่อนไขอาจเสียเวลามากกว่าการอบแห้งแบบปกติ ในกรณีการอบแห้งโดยผสมวัสดุเป็นครั้งคราว ช่วงห่างของเวลา theta[subscript m] (ช่วงเวลาก่อนการผสมวัสดุแต่ละครั้ง) ที่เหมาะสมที่สุดในการลดเวลาอบแห้งก็คือค่า theta[subscript m] ที่สามารถหารเวลา theta[subscript f] (เวลาที่ต้องใช้เพื่อให้ความชื้นเฉลี่ยสุดท้ายของชั้นวัสดุเท่ากับค่าที่ต้องการ) ของกรณีการอบแห้งแบบปกติได้ลงตัวหรือเกือบลงตัวที่สุด