Abstract:
วัตถุประสงค์ของการศึกษาครั้งนี้ คือเพื่อประเมินผลของการปนเปื้อนน้ำลายเทียม และผลของควันบุหรี่ต่อเสถียรภาพของสีของเรซินซีเมนต์ในแต่ละผลิตภัณฑ์ โดยแบ่งทำการทดสอบเป็น 2 ตอน การทดสอบตอนที่หนึ่ง เรซินซีเมนต์จำนวน 6 ผลิตภัณฑ์ (Nexus 3, Variolink Veneer, Superbond C&B, Clearfil SA Cement, Panavia F2.0 และ Multilink Speed) ได้ถูกเลือกนำมาทดสอบ เรซินซีเมนต์แต่ละผลิตภัณฑ์จะแยกออกเป็น 2 กลุ่มย่อยคือ กลุ่มเรซินซีเมนต์ที่ไม่ปนเปื้อนน้ำลายเทียมก่อนเกิดปฏิกิริยาการก่อตัว (N) และกลุ่มเรซินซีเมนต์ที่ปนเปื้อนน้ำลายเทียมก่อนการเกิดปฏิกิริยาการก่อตัว (S) เตรียมชิ้นตัวอย่างจากเรซินซีเมนต์จำนวน 10 ชิ้นในแต่ละกลุ่ม จำนวน 12 กลุ่มโดยใช้แม่แบบอะคริลิก นำชิ้นตัวอย่างมาผ่านการเร่งอายุด้วยเครื่องทดสอบการเร่งอายุเป็นเวลา 120 ชั่วโมง ทำการวัดสีก่อนและหลังผ่านการเร่งอายุด้วยเครื่องวัดสี ผลของการทดสอบตอนที่หนึ่งพบว่าการปนเปื้อนน้ำลายเทียมไม่ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของสีของเรซินซีเมนต์ ในขณะที่กลุ่ม Multilink Speed และกลุ่ม Superbond C&B มีการเปลี่ยนสีอย่างเห็นได้ชัดมากที่สุดตามลำดับ ส่วนกลุ่ม Variolink Veneer มีการเปลี่ยนสีที่น้อยที่สุด ส่วนการทดสอบตอนที่สอง นำชิ้นตัวอย่างจำนวน 10 ชิ้นของแต่ละผลิตภัณฑ์จากเรซินซีเมนต์จำนวน 6 ผลิตภัณฑ์มาทำการรมควันบุหรี่อย่างต่อเนื่องจำนวน 12 มวน โดยใช้บุหรี่ 1 มวนในการรมควันในกล่องนาน 6 นาที ใช้เวลารวมทั้งหมด 72 นาที แล้วจึงนำมาทำความสะอาดคราบควันบุหรี่ด้วยเครื่อง อัลตราโซนิก โดยทำการวัดสีจำนวน 3 ครั้งคือ การวัดสีก่อนการรมควันบุหรี่ การวัดสีหลังการรมควันบุหรี่ และการวัดสีหลังทำความสะอาดคราบควันบุหรี่ แล้วจึงคำนวณผลต่างเฉลี่ยของสีก่อนกับหลังการรมควันบุหรี่ (ΔE12) และผลต่างเฉลี่ยของสีก่อนการรมควันบุหรี่กับหลังทำความสะอาดคราบควันบุหรี่ (ΔE13) ผลของการทดสอบตอนที่สองพบว่าหลังการรมควันบุหรี่ สามารถสังเกตเห็นถึงการเปลี่ยนสีของเรซินซีเมนต์ด้วยสายตามนุษย์ได้ (ΔE12≥ 3.3) ยกเว้นกลุ่ม Clearfil SA Luting และกลุ่ม Panavia F2.0 และเมื่อทำความสะอาดคราบควันบุหรี่ที่ชิ้นตัวอย่างด้วยเครื่องอัลตราโซนิก พบว่ามีการติดสีจากคราบควันบุหรี่ลดน้อยลงในเรซินซีเมนต์ทุกผลิตภัณฑ์ที่นำมาทดสอบ (p≤0.05) ความรู้ที่ได้จากการวิจัยนี้สามารถนำไปเป็นแนวทางเบื้องต้นในการเลือกใช้เรซินซีเมนต์ให้เหมาะสมกับงานทันตกรรมด้านความสวยงาม และอาจใช้เป็นข้อมูลในการนำไปใช้ศึกษางานวิจัยขั้นต่อไปในอนาคตได้