Abstract:
ในปัจจุบันการก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคในเขตเมืองโดยส่วนใหญ่จะมีลักษณะเป็นการขยายระบบเดิม หรือเป็นการปรับปรุงซ่อมแซมระบบเดิมที่มีอยู่แล้ว จึงมักส่งผลกระทบต่อการจราจรหรือพื้นที่ถนนเดิมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ วิธีการเช่าพื้นที่ถนน (Lane Rental) เป็นแนวทางหนึ่งในการลดผลกระทบดังกล่าว โดยคิดค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นของผู้ใช้ถนน เนื่องจากผลกระทบในระหว่างการก่อสร้าง มาเป็นพื้นฐานในการคิดค่าเช่าพื้นที่ถนนจากผู้รับจ้างเมื่อต้องปิดช่องการจราจรในระหว่างการก่อสร้าง ดังนั้นการพัฒนาแบบจำลองในการประเมินค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นของผู้ใช้ถนนจึงมีความสำคัญในการนำแนวทางการเช่าพื้นที่ถนนไปประยุกต์ใช้ได้จริง ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นของผู้ใช้ถนนเนื่องจากผลกระทบในระหว่างการก่อสร้าง ในแบบจำลองของงานวิจัยนี้ จะคิดจากค่าใช้จ่ายในการใช้รถ (Vehicle Operating Costs) และความสูญเสียด้านเวลาในการเดินทางของผู้ใช้รถ (Driver Delay Costs) ที่เพิ่มขึ้นจากความแตกต่างของความเร็วก่อนการก่อสร้างและระหว่างการก่อสร้างโครงการ โดยปัจจัยที่มีผลทำให้ความเร็วเปลี่ยนแปลง คือ ปริมาณการจราจร จำนวนช่องทางการจราจร ความกว้างช่องทางการจราจร ชนิดของเกาะกลางถนน ระยะจากขอบถนนถึงไหล่ทาง และระยะจากขอบถนนถึงเกาะกลางถนนที่เปลี่ยนแปลงไปจากสภาพถนนเดิม ผลการวิเคราะห์ข้อมูลกรณีศึกษา โครงการก่อสร้างสาธารณูปโภคในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวน 8 โครงการ พบว่าผลกระทบต่อผู้ใช้ถนนจากการปิดช่องทางจราจร 1 ช่องทางในช่วงเวลากลางวันโดยเฉลี่ยมีมูลค่าเท่ากับ 13,389 บาท/ชม/กม ขณะที่ผละกระทบที่เกิดขึ้นในช่วงเวลากลางคืนโดยเฉลี่ยมีมูลค่าเท่ากับ 1,200 บาท/ชม./กม. ซึ่งผลกระทบดังกล่าวนี้สามารถนำมาเป็นพื้นฐานเบื้องต้นในการกำหนดอัตราค่าเช่าพื้นที่ถนนและเป็นแนวทางในการนำวิธีการเช่าพื้นที่ถนนมาประยุกต์ในการทำสัญญาที่มีใช้อยู่ในปัจจุบัน วิธีนี้จะเป็นการสร้างแรงจูงใจให้ผู้รับจ้างเลือกใช้เทคนิคและวิธีการก่อสร้างที่เหมาะสม ตลอดจนมีการวางแผนงานก่อสร้างที่ดี เพื่อให้มีการปิดช่องทางจราจรที่จำเป็นเท่านั้น