Abstract:
โดยการใช้ข้อมูลที่เป็นตัวแทนของสตรีวัยเจริญพันธุ์ในเขตกรุงเทพมหานคร เพื่อศึกษาแนวโน้มการให้ดูแลเด็กวัยก่อนเข้าโรงเรียนอนุบาลและการทำงานของสตรี ตั้งแต่ชาวงอดีต (เช่น สตรีที่ปัจจุบันมีบุตรอายุ 25-30 ปี) ไล่ลงมาถึงช่วงปัจจุบัน (เช่น สตรีที่ปัจจุบันมีบุตรอายุต่ำกว่า 3 ปี) ตลอดจนศึกษาผลกระทบของตัวแปรทางเศรษฐกิจ สังคม และประชากรที่มีผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างการทำงานของสตรีกับความต้องการผู้ดูแลเด็กวัยก่อนเข้าเรียนอนุบาล ผลการศึกษาพบว่า แม้ว่าโดยส่วนใหญ่มารดาจะเป็นผู้ดูและบุตรเองในช่วงที่บุตรอายุ 0-3 ปีมารดาดูแลบุตรด้วยตัวเองในช่วงปัจจุบันในระดับน้อยกว่าในช่วงอดีต โดยที่มารดาที่ทำงานอย่างต่อเนื่องตลอด 4 ช่วงการทำงานคือ ช่วงก่อนแต่งงาน หลังแต่งงาน หลังแต่งงานก่อนมีบุตร 5 คนแรก และก่อนมีบุตรคนล่าสุด และในช่วงปัจจุบัน มีแนวโน้มที่จะดูแลบุตรเองในระดับร้อยละต่ำกว่ามารดาที่ไม่ได้ทำงานตลอด 4 ช่วงดังกล่าว เมื่อพิจารณาตามอาชีพพบว่าอาชีพค้าขายเป็นอาชีพที่สตรีตัวอย่างของการศึกษาครั้งนี้ทำในระดับร้อยละสูงกว่าอาชีพอื่นภายหลังการแต่งงาน ซี่งน่าจะสัมพันธ์กับการดูแลบุตร โดยที่อาชีพค้าขายเป็นอาชีพที่มารดาสามารถทำงานไปและเลี้ยงดูบุตรไปได้ด้วย นอกจากนี้ยังพบว่าสตรีที่หยุดงานหลังคลอดช่วงเวลาสั้น ๆ สตรีที่มีสมาชิกหญิงโสดอายุ 16-49 ปีในบ้าน สตรีที่อายุบุตรในปัจจุบันอยู่ในกลุ่มอายุน้อยหรือเป็นบุตรลำดับที่ต้น ๆ สตรีที่มีระดับการศึกษาสูง มีแนวโน้มที่จะดูแลบุตรด้วยตัวเองน้อยกว่าสตรีที่หยุดงานหลังตลอดช่วงเวลานาน หรือไม่มีสมาชิกหญิงโสดอายุ 16-49 ปีในบ้าน หรือเป็นกลุ่มสตรีที่อายุบุตรในปัจจุบันอยู่ในกลุ่มอายุมากหรือเป็นบุตรลำดับที่ปลาย ๆ หรือสตรีที่มีระดับการศึกษาต่ำตามลำดับ เมื่อพิจารณาคุมด้วยตัวแปรหลาย ๆ ตัวในสมการเดียวกันพบว่าอาชีพของสตรี ระยะเวลาการหยุดงานหลังคลอด อายุของบุตร และลำดับที่ของบุตรเป็นตัวแปรที่สัมพันธ์กับตัวแปรการเลี้ยงดูบุตรอย่างมีนัยสำคัญ ตัวแปรระดับการศึกษาของสตรี ไม่มีนัยสำคัญในการอธิบายการเปลี่ยนแปลงแบบแผนการเลี้ยงดูบุตร ซึ่งน่าจะเป็นเพราะตัวแปรระดับการศึกษาของสตรี ส่งผลต่อแบบแผนการทำงานของสตรีซึ่งมีนัยสำคัญในการอธิบายแบบแผนการเลี้ยงดูบุตร มากกว่าจะเป็นเพราะลำพังตัวแปรระดับการศึกษาที่มีผลโดยตรงต่อแบบแผนการดูแลบุตร