Abstract:
การวิจัยนี้เป็นการทดลองในห้องปฏิบัติการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อทดสอบความแข็งแรงดัดขวางสองแกนของอินซีแรมและไอพีเอสเอมเพรส 2 ซึ่งมีอัตราส่วนความหนาของชั้นคอร์และวีเนียร์แตกต่างกัน โดยวัดจากค่าเฉลี่ยของความแข็งแรงดัดขวางสองแกน โดยทำชิ้นทดสอบเซรามิกเป็นแผ่นกลมจำนวน 100 ชิ้น เส้นผ่านศูนย์กลาง 15+-0.5 มม. ความหนา 1.2+-0.005 มม. ได้รับการขึ้นรูปตามคำแนะนำของบริษัทผู้ผลิต แบ่งชิ้นทดสอบเป็น 10 กลุ่ม กลุ่มละ 10 ชิ้น โดยกลุ่มที่ 1-5 เป็น อินซีแรมร่วมกับวีเนียร์พอร์ซเลน vitadur alpha ซึ่งมีอัตราส่วนความหนาของชั้นคอร์ต่อชั้นวีเนียร์ดังนี้ กลุ่มที่ 1 = 1.2 : 0, กลุ่มที่ 2 = 0.8 : 0.4, กลุ่มที่ 3 = 0.6 : 0.6, กลุ่มที่ 4 = 0.4 : 0.8, กลุ่มที่ 5 = 0 : 1.2 และกลุ่มที่ 6-10 เป็น ไอพีเอสเอมเพรส 2 ร่วมกับวีเนียร์พอร์ซเลน IPS Eris ซึ่งมีอัตราส่วนความหนาของชั้นคอร์ต่อชั้นวีเนียร์ดังนี้ กลุ่มที่ 6 = 1.2 : 0, กลุ่มที่ 7 = 0.8 : 0.4, กลุ่มที่ 8 = 0.6 : 0.6, กลุ่มที่ 9 = 0.4 : 0.8, กลุ่มที่ 10 = 0 : 1.2 นำชิ้นตัวอย่างทั้งหมดมาทดสอบหาความแข็งแรงดัดขวางสองแกนตามมาตรฐาน ISO 6872 ปี 1995 โดยใช้เครื่อง Instron 5583 (Instron, Canton, MA, USA) ที่ความเร็วหัวกด 1 มม. ต่อนาที ผลการทดสอบพบว่าค่าเฉลี่ยและค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานของแต่ละกลุ่มมีดังนี้กลุ่มที่ 1 = 433.06+-68.37 MPa กลุ่มที่ 2 = 338.90+-22.56 MPa กลุ่มที่ 3 = 294.43+-15.19 MPa กลุ่มที่ 4 = 259.94+-14.53 MPa กลุ่มที่ 5 = 56.59+-10.54 MPa กลุ่มที่ 6 = 288.31+-44.64 MPa กลุ่มที่ 7 = 246.34+-28.16 MPa กลุ่มที่ 8 = 258.63+-27.87 MPa กลุ่มที่ 9 = 226.59+-26.37 MPa กลุ่มที่ 10 = 68.56+-5.52 MPa เมื่อนำไปวิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติโดยใช้ ANOVA และ Tamhane's Test พบว่า อินซีแรมทั้งชั้นมีค่าความแข็งแรงดัดขวางสองแกนสูงกว่าแบบ 2 ชั้นโดยที่เมื่อความหนาของชั้นคอร์ลดลงค่าความแข็งแรงดัดขวาง สองแกนก็ลดลงตามลำดับอย่างมีนัยสำคัญ (p<.05) ส่วนไอพีเอสเอมเพรส 2 ทั้งชิ้นมีค่าความแข็งแรงดัดขวางสองแกนแตกต่างจากไอพีเอสเอมเพรส 2 แบบ 2 ชั้นอย่างไม่มีนัยสำคัญในทุกอัตราส่วนความหนาของคอร์และวีเนียร์ (p<.05) จากงานวิจัยนี้สรุปได้ว่า อัตราส่วนคอร์ต่อวีเนียร์มีผลต่อค่าความแข็งแรงดัดขวางสองแกนของอินซีแรม แต่ไม่มีผลต่อไอพีเอสเอมเพรส 2