Abstract:
ศึกษาการเปรียบเทียบความสามารถในการจำและการคล้อยตามสิ่งชี้นำ เมื่อเปรียบเทียบในเด็กปกติกับเด็กพิเศษที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน และในเด็กปกติกับเด็กพิเศษที่มีความบกพร่องทางการมองเห็น กลุ่มตัวอย่างเป็นเด็กปกติ จำนวน 40 คน เด็กที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน จำนวน 20 คน และเด็กที่มีความบกพร่องทางการมองเห็น จำนวน 20 คน โดยกลุ่มตัวอย่างไม่มีความบกพร่องทางร่างกายและสติปัญญา และมีอายุอยู่ในช่วง 9-12 ปี เข้ากระบวนการทดลองเพื่อวัดการคล้อยตามสิ่งชี้นำในกระบวนการซักถาม โดยในการเปรียบเทียบในเด็กปกติกับเด็กที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน ให้กลุ่มตัวอย่างดูภาพ ระลึกความจำอิสระ ถามคำถามชี้นำ การให้ผลป้อนกลับทางลบ และการถามคำถามซ้ำอีกครั้ง เพื่อให้ได้คะแนนการระลึกความจำอิสระ การยอมเชื่อตามคำถามชี้นำครั้งที่ 1. การยอมเชื่อตามคำถามชี้นำครั้งที่ 2 การเปลี่ยนคำตอบ และการคล้อยตามสิ่งชี้นำโดยรวม ในการทดลองที่ 2. เปรียบเทียบในเด็กปกติกับเด็กที่มีความบกพร่องทางการมองเห็น จะมีขั้นตอนเหมือนกับการทดลองที่ 1 แต่เปลี่ยนจากให้กลุ่มตัวอย่างดูรูปภาพเป็นฟังเนื้อเรื่องแทน
ผลการวิจัยพบว่า 1. เด็กที่มีความบกพร่องทางการได้ยินมีความสามารถในการจำมากกว่าเด็กปกติ อย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ .01 2. เด็กที่มีความบกพร่องทางการมองเห็นมีความสามารถในการจำมากกว่าเด็กปกติ อย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ .01 3. เด็กที่มีความบกพร่องทางการได้ยินมีการคล้อยตามสิ่งชี้นำในกระบวนการซักถามโดยรวม ไม่แตกต่างจากเด็กปกติ แต่ถึงอย่างไรก็ตามคะแนนการเชื่อตามคำถามชี้นำครั้งที่ 1 พบว่าเด็กที่มีความบกพร่องทางการได้ยินมีการคล้อยตามสิ่งชี้นำมากกว่าเด็กปกติ อย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ .05 4. เด็กที่มีความบกพร่องทางการมองเห็นมีการคล้อยตามสิ่งชี้นำในกระบวนการซักถามโดยรวมน้อยกว่าเด็กปกติ อย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ .01