Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประสบการณ์ภายหลังประสบภาวะวิกฤตทางอารมณ์ในนิสิตนักศึกษามหาวิทยาลัย ผู้ให้ข้อมูลจำนวน 10 ราย(หญิง 8 รายและชาย 2 ราย) การคัดเลือกผู้ให้ข้อมูลด้วยวิธีการคัดเลือกแบบเจาะจงตามเกณฑ์ที่กำหนด ผู้วิจัยเป็นผู้เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์รายบุคคล เครื่องมือวิจัยได้แก่ แนวทางการสัมภาษณ์ วิเคราะห์ข้อมูลโดยวิธีการวิจัยเชิงคุณภาพแบบทีมผู้วิจัยเห็นชอบร่วมกัน ผลการวิจัยพบประสบการณ์ภายหลังประสบภาวะวิกฤตทางอารมณ์ 5 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1)ชนวนที่ทำให้เกิดภาวะวิกฤต จุดเริ่มต้นของภาวะที่ก่อให้เกิดความเครียดสูง ซึ่งชนวนที่กระตุ้นให้เกิดภาวะวิกฤตทางอารมณ์นี้ สามารถเกิดได้จากทั้ง การจัดการปัญหาล้มเหลว การคาดหวังแล้วกลับผิดหวัง และ ความกดดันทางจิตใจที่เป็นผลจากการดำเนินชีวิต 2)การเริ่มต้นภาวะเสียสมดุล การที่บุคคลรับรู้ถึงสถานการณ์ที่ไม่สามารถจัดการได้ทั้งที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหัน ไม่ทันตั้งตัว หรือ การที่มีหลายเหตุการณ์สะสม ทับซ้อน ทำให้ไม่สามารถจัดการแก้ไขปัญหาได้ และนำไปสู่การเกิดภาวะวิกฤต 3)ภาวะเสียสมดุล การที่เกิดความคิดวนเวียน จมอยู่กับความทุกข์ใจ ไม่สามารถหาทางออกให้กับปัญหา ส่งผลให้เกิดผลกระทบ ทั้งต่อจิตใจและร่างกาย เช่น ไม่สามารถทำสิ่งต่างๆได้สมบูรณ์ดังเดิม จำนนต่อปัญหา หรือ สุขภาพร่างกายอ่อนแอลง เช่น น้ำหนักตัวลดลง เป็นต้น 4)การมีตัวช่วยและแหล่งเกื้อหนุนที่ช่วยเสริมสร้างกำลังใจ และความเข้มแข็งจากภายใน เพื่อเป็นแรงให้ก้าวข้ามผ่านภาวะวิกฤตไปได้ เช่น กำลังใจจากบุคคลในครอบครัว 5)การเติบโตภายหลังประสบภาวะวิกฤต ความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกที่เกิดขึ้นเมื่อสามารถผ่านพ้นภาวะวิกฤต สามารถอยู่ร่วมกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในชีวิตได้ดีขึ้น มีสัมพันธภาพที่ดีขึ้นกับบุคคลในครอบครัว ตลอดจน มีภูมิคุ้มกันในการเผชิญปัญหาต่อไป กล่าวโดยสรุปเมื่อนิสิตนักศึกษาผ่านพ้นประสบการณ์วิกฤตทางอารมณ์ด้วยการมีตัวช่วยและแหล่งเกื้อหนุนที่พอเพียง ภาวะวิกฤตทางอารมณ์กลับเป็นสิ่งที่สร้างความเข็มแข็งภายในและนำไปสู่การเติบโตอย่างมีภูมิคุ้มกันที่ดีด้านจิตใจและมีวุฒิภาวะได้