Abstract:
การศึกษาวิจัยนี้เป็นการวิเคราะห์อัตราคงใช้และล้มเหลวของการใช้วิธีคุมกำเนิด โดยใช้วิธีวิเคราะห์ 2 วิธี คือ วิธีตารางชีพและวัธีตัดขวางแบบปฏิทิน (life table and cross-sectional calendar approach)กับข้อมูลโครงการสำรวจ 2 โครงการคือ โครงการตัวกำหนดและผลกระทบของแบบแผนการใช้การคุมกำเนิดในประเทศไทย (CUPS) และโครงการสำรวจประชากรและการอนามัยในประเทศไทย (TDHS) ซึ่งทั้ง 2 โครงการได้ทำการสำรวจในปีเดียวกันคือ 2530 ผลการวิเคราะห์พบว่า อัตราคงใช้จากข้อมูล CUPS (ซึ่งเป็นการถามในลักษณะปฏิทินการใช้เป็นรายเดือน) ต่ำกว่าของโครงการ TDHS เล้กน้อย ในขณะที่อัตราล้มเหลวของ CUPS มีแนวโน้มสูงกว่าของ TDHS อย่างไรก็ตาม ความแตกต่างจากการคาดประมาณอัตราคงใช้และล้มเหลวจากข้อมูลทั้ง 2 โครงการมีไม่มากนัก จึงสรุปได้ว่าวิธีการเก็บข้อมูลของ 2 โครงการสามารถใช้แทนกันได้ ค่าคาดประมาณอัตราคงใช้และล้มเหลวด้วยการวิเคราะห์แบบตัดขวาง จะมีความน่าเชื่อถือได้เมื่อช่วงเวลาการศึกษานาน 2 ปีหรือมากกว่า ส่วนข้อมูลจากโครงการ TDHS ก็ให้ค่าประมาณที่น่าเชื่อถือได้และมีข้อยุ่งยากในการเก็บข้อมูลน้อยกว่าของโครงการ CUPS อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาในแง่ระเบียบวิธีวิจัยแล้ว วิธีปฏิทินน่าจะใช้ได้ง่ายกว่าในกรณีของประเทศไทย การศึกษาครั้งนี้พบว่า ห่วงอนามัยเป็นวิธีที่มีผู้ "ยอมรับ" มากที่สุด ตามด้วยยาเม็ดคุมกำเนิด ยาฉีดคุมกำเนิด หลั่งภายนอก นับระยะปลอดภัย และถุงยางอนามัย ส่วนวิธีที่มีประสิทธิภาพสูงสุดคือ ยาฉีดคุมกำเนิด รองลงไปคือ ยาเม็ดคุมกำเนิด และห่วงอนามัยซึ่งมีประสิทธิภาพเท่าเทียมกัน รองลงไปอีกคือ ถุงยางอนามัย โดยหลั่งภายนอกและนับระยะปลอดภัยมีประสิทธิภาพต่ำที่สุด