Abstract:
วิทยานิพนธ์นี้ต้องการศึกษาการเจรจาเพื่อการสำรวจและทำหลักเขตแดนลาว-ไทย ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1987 จนสามารถบรรลุข้อตกลงได้ในปี 1996 หลังจากที่สงครามอินโดจีนสิ้นสุดลงความสัมพันธ์ ระหว่างลาวและไทยมีปัญหาและขัดแย้งกันมาโดยตลอดในทางด้านอุดมการณ์ทางการเมืองและเรื่องพรมแดนทั้งทางบกและทางน้ำที่ยังไม่ได้มีความชัดเจน จึงทำให้ทั้งสองประเทศเกิดการเผชิญหน้ากัน ในการศึกษาเรื่องนี้ ได้อาศัยกรอบความคิดเชื่อมโยง (linkage theory) มาอธิบายประเด็นความขัดแย้ง ซึ่งในที่สุดก็มีเหตุ ที่ชักนำลาวและไทยมาสู่การเจรจาทำข้อตกลงกันได้ จากการศึกษาพบว่า ลาวและไทยสามารถที่บรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับการสำรวจและจัดทำหลัก เขตแดนในปี ค.ศ. 1996 นั้น เป็นผลมาจากการที่ลาวและไทยลดความระแวงซึ่งกันและกัน ภายหลังจาก การที่สภาพแวดล้อมระหว่างประเทศได้มีการเปลี่ยนแปลงไป จนเกิดหลักประกันให้แต่ละฝ่ายหันมา ริเริ่มสร้างความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจเพื่อปูพื้นไปสู่ความร่วมมือด้านต่างๆ ต่อไป ในขณะเดียวกัน แต่ละประเทศก็ได้ปรับนโยบายต่างประเทศของตน เช่น ลาวเปิดประเทศสู่โลกภายนอก ด้วยการสร้าง ความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจกับประเทศต่างๆ มากขึ้นโดยไม่จำกัดเฉพาะประเทศที่มีอุดมการณ์ เดียวกันเท่านั้น และถือเอาประเทศเพื่อนบ้านเป็นประตูออกสู่ทะเล เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจตามนโยบาย “จินตนาการใหม่” ส่วนฝ่ายไทยนั้นได้ปรับเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ และ มีแนวทางนโยบายต่างประเทศที่ แตกต่างจากเดิม คือ นโยบาย “เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า” จากจุดนี้นโยบายของทั้งสองประเทศ จึงมีความสอดคล้องกัน และ เอื้อต่อการพัฒนาความร่วมมือมากขึ้น จนในที่สุดทั้งสองประเทศสามารถ ก้าวมาสู่ข้อตกลงในการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนในปี ค.ศ. 1996