Abstract:
การศึกษาวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาถึงความสามารถในการกระตุ้นให้เกิดการสร้างกระดูกของลำไส้เล็กหมูชั้นสับมิวโคซา (small intestinal submucosa; SIS) และเนื้อกระดูกที่ผ่านการลดปริมาณเกลือแร่ (demineralized bone matrix; DBM) โดยทำการแยกเซลล์ต้นกำเนิดจากเยื่อหุ้มกระดูก 7 วัน หลังจากทำการเพาะเลี้ยง พบเซลล์ลักษณะคล้าย fibroblasts เรียงตัวอยู่โดยรอบชิ้นเนื้อเยื่อ จากนั้นนำเซลล์ที่ได้ทำการวิเคราะห์ความสามารถของ DBM และ SIS ต่อการเจริญเพิ่มจำนวนเซลล์ต้นกำเนิดจากเยื่อหุ้มกระดูกด้วย tryphan blue staining assay พบว่าเซลล์ที่ได้จากเยื่อหุ้มกระดูกหลังจากกระตุ้นด้วย SIS มีการเจริญเพิ่มจำนวนของเซลล์เพิ่มขึ้นที่ปริมาณ 5 และ 10 มิลลิกรัม และในกลุ่มที่กระตุ้นด้วย DBM หรือ SIS ผสมกับ DBM พบว่ามีการเจริญเพิ่มจำนวนเซลล์เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ (P<0.05) เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้รับการกระตุ้น (กลุ่มควบคุม) จากนั้นทำการวิเคราะห์การแสดงออกของยีนที่บ่งชี้ถึงการเปลี่ยนแปลงไปเป็นเซลล์สร้างกระดูก เช่น ยีน Runt-related transcription factor 2 (RUNX2) ยีน alkaline phosphates (ALP) และยีน collagen type I (COL I) เป็นต้น โดยวิธี RT-PCR พบว่ามีการแสดงออกของยีน RUNX2, COL I และ ALP ในกลุ่มที่กระตุ้นด้วย DBM และ DBM ผสมกับ SIS การแสดงออกของยีนด้วย cDNA array ของยีน Biglycan (BGN), Transforming growth factor, beta 1 (TGFβ1), Transforming growth factor, beta receptor 1 (TGFβR1), RUNX2 และ Vascular endothelial growth factor (VEGF) พบว่ามีอัตราส่วนมากกว่า 2 และ Collagen, type XIV, alpha 1 (COL 14 A1) พบว่ามีอัตราส่วนที่มีค่าน้อยกว่า 0.5 ในการศึกษาความสามารถการพัฒนาเปลี่ยนแปลงของเซลล์ต้นกำเนิดจากเยื่อหุ้มกระดูกไปเป็นเซลล์กระดูกด้วยวิธี alkaline phosphatase assay พบว่าในกลุ่มที่กระตุ้นด้วย DBM ผสมกับ SIS มีระดับการทำงานของเอนไซม์ ALP เพิ่มสูงขึ้นกว่ากลุ่มอื่นซึ่งสอดคล้องกับการทำ alkaline phosphatase staining ซึ่งเซลล์ที่ได้รับการกระตุ้นมีการย้อมติดสีแดงให้ผลบวก การวิเคราะห์ความสามารถของ DBM, SIS และ DBM ผสมกับ SIS ในการกระตุ้นให้เกิดการสร้างกระดูกใหม่ในสัตว์ทดลอง (Wistar rat) พบว่า DBM และ DBM ผสมกับ SIS มีความสามารถในการกระตุ้นให้มีการสร้างกระดูกใหม่เกิดขึ้น ส่วนในกลุ่มที่กระตุ้นด้วย SIS พบว่าไม่มีการสร้างกระดูก