Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของกลุ่มจิตสัมพันธ์ต่อการเปิดเผยตนเองของนักศึกษา โดยมีสมมติฐานการวิจัยดังนี้ (1) หลังการเข้าร่วมกลุ่มจิตสัมพันธ์ นักศึกษาในกลุ่มทดลองจะมีคะแนนการเปิดเผยตนเองสูงกว่าก่อนการเข้าร่วมกลุ่มจิตสัมพันธ์ (2) หลังการเข้าร่วมกลุ่มจิตสัมพันธ์ นักศึกษาในกลุ่มทดลองจะมีคะแนนการเปิดเผยตนเองมากกว่านักศึกษาที่ไม่ได้เข้าร่วมกลุ่มจิตสัมพันธ์ การวิจัยครั้งนี้ เป็นการวิจัยเชิงทดลองแบบมีกลุ่มควบคุม มีการทดสอบก่อนและหลังการทดลอง กลุ่มตัวอย่าง เป็นนักศึกษาสถาบันราชภัฎนครราชสีมา ชั้นปีที่ 1 จำนวน 42 คน ซึ่งสุ่มจากผู้ที่มีคะแนนการเปิดเผยตนเองที่เปอร์เซ็นต์ไทล์ที่ 30 และต่ำกว่าสมัครใจเข้าร่วมในการวิจัย แบ่งเป็นกลุ่มทดลอง 21 คน และกลุ่มควบคุม 21 คน โดยการแบ่งกลุ่มทดลองออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มละ 6-8 คน กลุ่มทดลองเข้าร่วมกลุ่มจิตสัมพันธ์ มีระยะเวลา 3 วัน 2 คืน ติดต่อกันรวมทั้งสิ้นประมาณ 21 ชั่วโมง โดยผู้วิจัยเป็นผู้นำกลุ่ม เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แบบวัดการเปิดเผยตนเองที่พัฒนามาจากแบบวัดการเปิดเผยตนเอง Jourard’s Self-disclosure Questionnaire (JSDQ) ของ Jourard วิเคราะห์ข้อมูลโดยการทดสอบความแตกต่างของค่าเฉลี่ยของคะแนนการเปิดเผยตนเอง ด้วยวิธีการทดสอบค่าที (t-test) ผลการวิจัยพบว่า 1.หลังการเข้าร่วมกลุ่มจิตสัมพันธ์ นักศึกษาที่เข้าร่วมกลุ่มจิตสัมพันธ์มีคะแนนการเปิดเผยตนเองสูงกว่าก่อนเข้าร่วมกลุ่มจิตสัมพันธ์ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 2.หลังการเข้าร่วมกลุ่มจิตสัมพันธ์ นักศึกษาที่เข้าร่วมกลุ่มจิตสัมพันธ์มีคะแนนการเปิดเผยตนเองสูงกว่านักศึกษาที่ไม่ได้เข้าร่วมกลุ่มจิตสัมพันธ์ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01