Abstract:
ปัญหางูพิษกัดเป็นปัญหาทางสาธารณะสุขที่สำคัญของประเทศไทย หนึ่งในงูพิษที่สำคัญในไทยคืองูแมวเซา (Daboia russellii siamensis) งูชนิดนี้พบมากในแถบภาคกลางและภาคตะวันออกของไทย ผู้ที่ถูกงูชนิดนี้กัด มักมีอาการทางระบบเลือด และภาวะไตวายเฉียบพลัน ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้ที่ถูกงูแมวเซากัดเสียชีวิต ในปัจจุบันความรู้เกี่ยวกับกลไกการเกิดพิษหลังถูกงูแมวเซากัด รวมทั้งโปรตีนสำคัญในพิษงูแมวเซาที่อาจมีประโยชน์ทางการแพทย์ ยังไม่มีการศึกษาอย่างแน่ชัด การศึกษาองค์ประกอบของพิษงูแมวเซาในเชิงลึก จะช่วยให้เข้าใจกลไกการเกิดพิษ นำไปสู่การรักษาที่มีประสิทธิภาพที่ดีขึ้น พร้อมทั้งอาจนำความรู้ที่ได้ไปใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ต่อไป จากผลงานที่ผ่านมา ทางกลุ่มผู้วิจัยได้สร้างห้องสมุดยีน (cDNA library) จากต่อมพิษงูแมวเซาได้สำเร็จ และได้มีการศึกษาองค์ประกอบของพิษงูเบื้องต้นด้วยเทคนิค Expressed Sequence Tags Analysis พบว่าในพิษงูมีการแสดงออกของยีนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการ haematostasis เป็นจำนวนมาก ซึ่งสัมพันธ์กับความเป็นพิษของงูแมวเซาที่มีผลโดยตรงต่อระบบเลือดของเหยื่อที่ถูกกัด หลังจากการศึกษาวิจัยในปีแรกได้ทำการแยกบริสุทธิ์โปรตีนพิษงูแมวเซาชนิด RVV-X และ PLA2 ก่อนโดยใช้วิธี Gel filtration column chromatography และ Anion exchange column chromatography และทำโคลนและผลิตโปรตีนที่พบใน cDNA library ด้วย recombinant technology จำนวน 5 ยีน ได้สำเร็จ คือ phospholipase A2 (PLA2), factor X activating enzyme (RVV-X), factor V activating enzyme (RVV-V), serine β-fibrinogenase และ rJerdostatin homolog (Daboistatin short disintegrin) โดยที่โปรตีนทุกตัวสามารถทำปฏิกิริยากับ anti his tag ได้ โดยในการศึกษานี้เป็นการทดสอบคุณสมบัติทางชีวเคมีของโปรตีน RVV-X ทั้งในหลอดทดลองและในสัตว์ทดลอง รวมถึงการทดสอบการทำงานของ recombinant protein ที่ผลิตได้ ซึ่งสามารถนำความรู้ที่ได้ไปใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ต่อไป