Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาถึงความสัมพันธ์ระหว่างสัดส่วนการใช้การวางแผนครอบครัวของสตรีไทยมุสลิม ในสี่จังหวัดภาคใต้กับการเข้าถึงบริการวางแผนครอบครัว รวมทั้งวิเคราะห์ถึงปัจจัยทางสังคม ประชากรและเศรษฐกิจที่มีผลกระทบต่อการใช้การวางแผนครอบครัว ข้อมูลที่นำมาวิเคราะห์นั้นได้รวบรวมมาจากการสัมภาษณ์สตรีในวัยเจริญพันธุ์และกำลังอยู่กับสามี จำนวน 396 คน ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2531 โดยเป็นสตรีจากหมู่บ้านที่มีอัตราการใช้การคุมกำเนิดสูง 194 คน และจากหมู่บ้านที่มีอัตราการใช้การคุมกำเนิดต่ำ 202 คน ผลการศึกษาพบว่า สตรีไทยมุสลิมทั้งในเขตที่มีอัตราการใช้สูงและต่ำมากกว่าร้อยละ 90 รู้วิธีคุมกำเนิดแบบทันสมัยอย่างน้อย 1 วิธี ส่วนใหญ่ทราบสถานที่ที่จะไปรับบริการ ระยะทางจากที่พักไปยังสถานบริการก็ไม่ไกลนัก แต่ส่วนมากมีความคิดเห็นว่า แต่ละวิธีมีปัญหาหรือผลข้างเคียงโดยเฉพาะวิธียาเม็ด ยาฉีด และการทำหมัน ในแง่ของบริการส่วนใหญ่คิดว่าดีอยู่แล้ว แต่ขอให้ปรับปรุงในเรื่องของระยะเวลาที่ใช้รอพบเจ้าหน้าที่ มารยาทและคำพูดจาของเจ้าหน้าที่ของผู้ใช้บริการ เมื่อรวมการใช้วิธีคุมกำเนิดทุกวิธี สตรีในเขตที่มีอัตราการใช้สูง เคยใช้ถึงร้อยละ 51.5 ในขณะที่สตรีในเขตที่มีอัตราการใช้ต่ำเคยใช้เพียงร้อยละ 27.4 เท่านั้น และเพื่อวิเคราะห์เหตุที่ทำให้ระดับการใช้ที่ต่างกันระหว่าง 2 กลุ่มสตรีดังกล่าว การศึกษาครั้งนี้ใช้แนวคิดเรื่องแรงจูงใจและค่าใช่จ่ายในการใช้เป็นพื้นฐานในการวิเคราะห์ โดยตั้งอยู่บนสมมติฐานที่ว่า สตรีที่มีแรงจูงใจในการใช้สูงและมีค่าใช้จ่ายในการใช้ต่ำ จะใช้การคุมกำเนิดมากกว่าสตรีที่มีแรงจูงใจในการใช้ต่ำ และ/หรือ มีค่าใช้จ่ายในการใช้สูง สำหรับค่าใช้จ่ายในการใช้ซึ่งคาดว่าน่าจะมีผลกระทบต่ออัตราการใช้การคุมกำเนิดนั้น ในการศึกษาครั้งนี้ได้ตั้งสมมติฐานว่า ยิ่งจำนวนวิธีการคุมกำเนิดที่รู้เพิ่มขึ้นค่าใช้จ่ายจะยิ่งลดลง ผลการวิเคราะห์เป็นไปตามที่คาดหมายไว้ นอกจากนี้ยังได้วิเคราะห์เกี่ยวกับแรงจูงใจในการใช้การวางแผนครอบครัวโดยมีตัวแปร 3 ตัว คือ จำนวนบุตรที่มีชีวิตในปัจจุบัน ความไม่ต้องการบุตรเพิ่ม และจำนวนบุตรที่คาดหวังว่าจะมี ก็พบว่าสตรีในเขตที่มีการอัตราการใช้ฯสูงมีแรงจูงใจในการใช้สูงกว่าสตรีในเขตที่มีอัตราการใช้ฯต่ำ ผลการวิเคราะห์ในโครงการนี้ชี้ให้เห็นว่า ควรรณรงค์ให้สตรีไทยมุสลิมมีจำนวนบุตรในอุดมคติให้น้อยลง ให้ความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับวิธีคุมกำเนิดวิธีต่าง ๆ แก่สตรีดังกล่าว รวมทั้งการส่งเสริมให้สตรีมีการศึกษาที่สูงขึ้น และมีสถานภาพในการทำงานที่ดีขึ้น สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้น่าจะเป็นแนวทางหนึ่งที่จะเพิ่มอัตราการใช้การวางแผนครอบครัวในสี่จังหวัดภาคใต้ในอนาคต