Abstract:
การทอผ้าขิดเป็นวัฒนธรรมการทอของชาวภูไทและชาวลาว ที่อพยพมาตั้งถิ่นฐานอยู่ในจังหวัดต่างๆ ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ในอดีตเป็นการทอผ้าเพื่อใช้ในชีวติประจำวันและงานประเพณีต่าง ๆ ในปัจจุบันมีการส่งเสริมการทอผ้าขิดเพื่อสร้างรายได้ให้กับประชากร ยโสธรเป็นจังหวัดหนึ่งที่ประสพความสำเร็จในการสนับสนุนให้ประชากรท้องถิ่นผลิตผลิตภัณฑ์จากผ้าขิด เช่น หมอนขิด ที่นอน เป็นต้น แต่ด้วยเหตุผลเชิงพาณิชย์การทอผ้าขิดในยโสธรเลือกเฉพาะลายที่ง่ายและสามารถผลิตได้รวดเร็ว ทำให้ละเลยลายที่มีความซับซ้อนหรือลายอื่น ๆ ในอดีต นอกจากนี้ยังไม่สนใจที่จะสร้างสรรลายใหม่ด้วย วัตถุประสงค์ของการวิจัยนี้ เป็นการศึกษาเพื่ออนุรักษ์ลายขิด ตลอดจนเทคนิคการทอขิดในจังหวัดยโสธร และเพื่อส่งเสริมให้มีการสืบทอด และถ่ายทอดสำนึกในด้านความงามของลายขิดในอดีตแก่ผู้ทอ ผู้ใช้ และประชากรทั่วไปในปัจจุบัน การวิจัยได้รวบรวมข้อมูลภาคเอกสารและการสำรวจภาคสนามจากจัวหวัดอื่นๆ ที่มีชื่อเสียงด้านผ้าขิด ได้แก่ อุบลราชธานี มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ชัยภูมิ กาฬสินธุ์ มุกดาหาร อุดรธานี และหนองคาย ข้อมูลที่ได้แบ่งเป็นข้อมูลผ้าขิดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และผ้าขิดในจังหวัดยโสธร สำหรับข้อมูลผ้าขิดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือประกอบด้วย ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับผ้าขิดในอีสาน ความเชื่อ ขนบธรรมเนียม และวัฒนธรรม ชนิดและการนำผ้าขิดไปใช้ในโอกาสต่างๆ รวมถึงเทคนิคการทอในส่วนของผ้าขิดในจังหวัดยโสธร ประกอบด้วยข้อมูลเกี่ยวกับผ้าขิดในจังหวัดยโสธร เน้นแหล่งทอผ้าขิด แหล่งผลิตผลิตภัณฑ์จากผ้าขิดและการจำแนกลายผ้าของขิด จากการศึกษาพบว่า เทคนิคการทอขิดและลวดลายขิดในหลายจังหวัดมีความคล้ายคลึงกัน จะมีความแตกต่างกันบ้างเฉพาะชื่อของลาย ซึ่งเกิดจากสำเนียงท้องถิ่น ความซับซ้อนของลายขึ้นอยู่กับความสามารถเฉพาะตัวของผู้ทอ ซึ่งทำหน้าที่ออกแบบลายเอง ในการศึกษานี้ ได้จำแนกประเภทของลายขิดตามความซับซ้อนของลายจากการออกแบบเป็น 4 ประเภท คือ 1. ลายพื้นฐาน 2.ลายที่เลียนแบบสิ่งแวดล้อม 3. ลายผสม หรือลายขั้นสูง 4.ลายเพื่อกิจกรรมพิเศษ ผ้าขิดในจังหวัดยโสธร ปัจจุบันทอด้วยฝ้ายหรือใยสังเคราะห์ เช่น ฝ้ายใหม่ สี่ที่ใช้เป็นสีสังเคราะห์ ลวดลายในอดีตยังพอหาได้จากผ้าที่เก็บไว้โดยนักสะสมผ้าและผ้าเก่าที่เก็บไว้กับวัด สำหรับผ้าขิดจังหวัดอื่น ๆ ที่สำรวจประกอบการศึกษาในงานวิจัยนี้ มีรายละเอียดที่น่าสนใจดังนี้ อุบลราชธานี : เป็นจังหวัดที่เป็นศูนย์กลาง และต้นกำเนิดของผ้าอีสานหลายประเภทมีพิพิธภัณฑ์ผ้า และยังมีการอนุรักษ์ลายของผ้าเก่า ผ้าขิดในปัจจุบันมีผลิตด้วยฝ้ายและไหม การย้อมมีทั้งสีธรรมชาติและสีสังเคราะห์ ลวดลายมีทั้งที่เป็นลายง่าย ๆ และลายที่มีความซับซ้อน มหาสารคาม : เป็นจังหวัดที่มีนักวิจัยท้องถิ่น ซึ่งทำการศึกษาและรวบรวมลายขิดของจังหวัดไว้ สำหรับผ้าขิดปัจจุบันยังคงทอเพื่อการใช้สอยในชีวิตประจำวันและในงานพิธีต่าง ๆ โดยนิยมทอด้วยผ้าฝ้าย และใช้สีสังเคราะห์รูปแบบของลาย เป็นลายง่าย ๆ ชัยภูมิ : เป็นจังหวัดหนึ่งที่ได้รับการส่งเสริมเรื่องผ้าอย่างมาก เพราะมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้เชี่ยวชาญ และนักสะสมผ้าที่มีชื่อเสียง การผลิตผ้าขิดมีทั้งเพื่อการพาณิชย์และใช้ในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะในส่วนที่ผลิตเชิงพาณิชย์ จะทอเป็นผ้าผืนเพื่อใช้ในการตกแต่งและใช้สอยในครัวเรือน เช่น ผ้าคลุมโต๊ะ ผ้าคลุมเตียง โดยผลิตทั้งที่เป็นฝ้ายหรือไหม ย้อมด้วยสีธรรมชาติ หรือสีสังเคราะห์ รูปแบบของลายมีทั้งที่เป็นลายง่าย ๆ และลายที่ซับซ้อน กาฬสินธุ์ : เป็นจังหวัดที่มีกลุ่มชนชาวไทที่มีความสามารถพิเศษในการทอ และมีการพัฒนาการทอขิดชั้นสูง เรียกว่า "แพรวา" โดยสอดสีหลายสีในแนวเดียวกัน (ขิดทั่วไปจะเป็นสีเดียวในแนวเส้นพุ่งเดียวกัน) ลวดลายจะยากและซัยซ้อนและสวยงม นิยมทอด้วยไหมเท่านั้น การย้อมสีมีทั้งที่เป็นสีธรรมชาติ หรือสีสังเคราะห์ อุดรธาน๊ : เป็นจังหวัดที่ส่งเสริมการทอผ้าขอดในเชิงพาณิชย์ มีทั้งที่เป็นลายง่าย ๆ และลายซับซ้อน ผลิตเป็นผ้าเพื่อนำไปผลิตผลิตภัณฑ์อื่น ๆ และผ้าผืนสำหรับตัดชุดได้ด้วย (นอกจากนี้ยังนำเอาการทอขิดไปผสมกับเทคนิคการทออื่น ๆ ในผ้าผืนเดียวกัน) นิยมผลิตด้วยผ้าฝ้ายหรือใยสังเคราะห์ เช่น ฝ้ายไหม ใช้สีสังเคราะห์ มุกดาหาร, ร้อยเอ็ด และหนองคาย : ยังคงมีการทอขิดเพื่อใช้ในการชีวิตประจำวัน และงานพิธีต่าง ๆลวดลายทีทั้งที่เป็นแบบง่าย ๆ และที่ซับซ้อนขึ้นอยู่กับหน้าที่ใช้สอยของผ้าขิดทีทอ นิยมใช้ฝ้าย สีสังเคราะห์และสีธรรมชาติ การวิจัยนี้ จะเป็นประโยชน์โดยตรงต่อผู้ที่สนใจศึกษาเทคนิคและลวดลายของผ้าทอ โดยเฉพาะผ้าขิด และอาจนำไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประเภทต่าง ๆ จากผ้าทอด้วย