Abstract:
การศึกษาวิจัยนี้มีจุดประสงค์ที่จะทำความเข้าใจสาเหตุความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจากนโยบายโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนปากมูล และสามารถชี้ให้เห็นถึงผู้มีส่วนร่วมในการกำหนดและนำนโยบายไปปฏิบัติรวมถึงใครเป็นผู้ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ในความขัดแย้งดังกล่าว ซึ่งผู้ที่เสียประโยชน์มีวิธีการต่อสู้ทางการเมืองอย่างไร จากการศึกษาพบว่ากระแสความขัดแย้งทางการเมืองนี้มีรากฐานอยู่บนความขัดแย้งทาง[อุดมการณ์]และผลประโยชน์ ระหว่างกลุ่มบุคคล 2 ฝ่ายในสังคม นั่นคือ กลุ่มที่ได้ประโยชน์กับกลุ่มที่เสียประโยชน์จากนโยบาย ในเชิง[อุดมการณ์] กลุ่มบุคคลที่ให้การสนับสนุนนโยบายการสร้างเขื่อน เชื่อว่า การสร้างเขื่อนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้ามีความจำเป็น เนื่องจากเป็นปัจจัยพื้นฐานที่จะสนับสนุนการพัฒนาทางเศรษฐกิจในระบบอุตสาหกรรมในทางกลับกันกลุ่มบุคคลที่คัดค้านการสร้างเขื่อนได้จัดลำดับความสำคัญของการพัฒนาไว้ที่การดำรงสภาพธรรมชาติไว้ให้มากที่สุด โดยเปรียบนโยบายการสร้างเขื่อนเป็นเสมือนความล้มเหลวของรัฐในการจัดการเรื่องความต้องการใช้กระแสไฟฟ้าของประชาชน และการจัดสรรทรัพยากรธรรมชาติที่ไม่สมดุล ในเชิงผลประโยชน์ ภาครัฐ ภาคเอกชนและองค์การระหว่างประเทศ จะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลประโยชน์อันสืบเนื่องจากเป็นผู้ที่มีส่วนในการกำหนดนโยบาย และได้รับมอบอำนาจในการนำนโยบายไปปฏิบัติ โดยสามารถกีดกันและละเลยต่อความต้องการของประชาขนในท้องถิ่น รวมไปถึงการใช้ความรุนแรงยับยั้งกลุ่มที่คัดค้านนโยบายได้โดยชอบธรรม สำหรับกลุ่มผู้สูญเสียประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรนักศึกษา องค์กรพัฒนาเอกชน และประชาชนในท้องถิ่น ได้รวมตัวกันเพื่อนโยบายดังกล่าวทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับประเทศ และระดับสากล