Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์ที่จะศึกษาสถานการณ์ความสัมพันธ์ไทย-พม่าในช่วงรัฐบาลนายชวน หลีกภัย สมัยที่ 2 (พ.ศ.2540-2544) โดยต้องการหาสาเหตุที่พม่ามีปฏิกิริยาโต้ตอบไทยในเชิงลบในช่วงรัฐบาลชุดนี้ โดยเฉพาะในช่วงหลังจากที่ไทยได้เสนอหลักการ “การเกี่ยวพันอย่างยืดหยุ่น” (flexible engagement) ซึ่งได้รับการปรับเปลี่ยนและได้รับการตอบรับเป็นหลักการ “การปฏิสัมพันธ์เชิงเกื้อหนุน” (enhanced interaction) ณ ที่ประชุมประจำปีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอาเซียน เมื่อกลางปี พ.ศ.2541 เป็นต้นมา ทั้งนี้ ได้นำแนวความคิดเรื่อง “action and reaction” ของ Richard N. Rosecrance และเรื่อง “international regimes” ของ Stephen D. Krasner มาวิเคราะห์ถึงความไม่พอใจของพม่าต่อนโยบายของฝ่ายไทยและปฏิกิริยาโต้ตอบที่ ไม่เป็นมิตรของพม่าต่อไทย เนื่องด้วยพม่าเห็นว่า “หลักการไม่แทรกแซงกิจการภายในประเทศสมาชิกอื่น” เป็นหลักการพื้นฐานของอาเซียน แต่นโยบาย “การเกี่ยวพันอย่างยืดหยุ่น” ของฝ่ายไทยมีความขัดแย้งกับหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายในของอาเซียน ผลจากการศึกษาครั้งนี้พบว่า ภายหลังจากที่ไทยได้เสนอหลักการ “การเกี่ยวพันอย่างยืดหยุ่น” ในกลางปี พ.ศ. 2541 ปรากฏว่ารัฐบาลพม่าไม่พอใจ โดยมีปฏิกิริยาโต้ตอบที่ไม่เป็นมิตรต่อไทย ทำให้สถานการณ์ความสัมพันธ์ไทย-พม่าในช่วงภายหลังจากการประกาศหลักการดังกล่าวของฝ่ายไทย มีลักษณะที่เลวร้ายยิ่งขึ้นกว่าช่วงก่อนหน้าของรัฐบาลชุดเดียวกัน โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ ได้แก่ การค้าไทย-พม่า ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การทำสัมปทาน การลงทุนของไทยในพม่า และ การเปิดและปิดจุดผ่านแดน การศึกษายังพบว่าการดำเนินนโยบายของฝ่ายไทยที่สร้างความไม่พอใจแก่รัฐบาลพม่านับตั้งแต่ไทยประกาศหลักการ “การเกี่ยวพันอย่างยืดหยุ่น” ได้เกิดขึ้นหลายครั้งในหลายลักษณะ วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ได้เสนอแนะแนวทางในการที่ไทยสามารถปรับ และเสริมสร้างความสัมพันธ์กับพม่าให้ดีขึ้นได้ โดยที่รัฐบาลไทยต้องให้ความสำคัญกับการวางนโยบาย และการดำเนินนโยบายต่อพม่าบนพื้นฐานของความจริงใจ และยึดหลักการไม่แทรกแซงกิจการทางการเมืองภายในของพม่า เป็นหลัก